ในทริปเลห์ ลาดัก อินเดีย มีอยู่ 3 วันที่เราไปพักค้างกันที่นูบร้า วัลเลย์
.
ไฮไลท์คือไปเที่ยว Turtuk Village เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ตีนเขา ริมลำธาร ห่างจากชายแดนปากีสถานราว 14 กิโลเมตรเท่านั้น
.
แต่หาคนไปเที่ยวและหารีวิวของที่นี่ได้น้อยมาก … เพราะมันไกลมากกกกกก
.
ผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นี้หน้าตาจะไม่เหมือนคนอินเดียเลย จะเป็นแขกขาว ตาคมโต จมูกดูสันเป็นคม การเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก และระหว่างทางจะเจอค่ายทหารตลอดเวลา เพื่อคอยรักษาการณ์จากสถานการณ์พิพาทตามแนวชายแดน อินเดีย-ปากีสถาน แต่ถึงกระนั้น เพื่อแลกกับความสวย เราก็ขอสู้ แต่พอไปอยู่จริงๆ ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีอันตรายใดๆ นะ แถมยังเป็นจุดหมายที่เราประทับใจมาก
.
“มองไปทางไหนก็มีแต่ดอกกกกกกก … ไม้ เต็มไปหมด”
.
Turtuk เป็นหมู่บ้านประวัติศาสตร์ เพราะครั้งหนึ่ง ผืนดินตรงนี้เคยเป็นอาณาเขตของปากีสถาน แต่นับจากสถานการณ์สู้รบกันระหว่างปากีกับอินเดีย จบลงด้วยอินเดียเป็นฝ่ายชนะ Turtuk จึงอยู่ใต้การดูแลของอินเดียมานับตั้งแต่ปีค.ศ. 1971 เป็นต้นมา
.
คนที่นี่ไม่มีเค้าของการเป็นคนอินเดียเลย เพราะส่วนใหญ่ญาติพี่น้องของเค้าก็อยู่ปากี มีการติดต่อข้ามแดนกันอยู่เป็นระยะ เพราะอีกเพียงแค่ 14 กิโลเมตรจากหมู่บ้านนี้ก็จะเป็นพรมแดนปากีสถาน หมู่บ้านนี้ยังนับเป็นจุดที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลต่ำสุดในทุกที่ทั้งหมดของทริปเลห์ ลาดัก ทำให้เราไม่รู้สึกเหนื่อยเพลียแต่อย่างใด ตรงกันข้ามเรากับตื่นตาตื่นใจกับบรรยากาศ เสียงน้ำไหล ใบไม้ที่กำลังจะเปลี่ยนจากสีเขียว เป็นสีเหลืองดูเหมือนวิวจะสวยและสดชื่นที่สุดด้วยตั้งแต่เดินทางมา
.
KANT พามาเที่ยวหมู่บ้าน TURTUK ที่เลห์ ลาดัก … พาไปเด็ดดอกไม้ที่ชายแดนอินเดีย … ซึ่งสะเทือนถึงทั้งปากีสถาน
—
KANT พามาเที่ยวหมู่บ้าน TURTUK ที่เลห์ ลาดัก … พาไปเด็ดดอกไม้ที่ชายแดนอินเดีย … ซึ่งสะเทือนถึงทั้งปากีสถาน
#TUKTUK#LEHLADAKH#INDIA
#RIRRoyal Ivy Regatta
การเดินทางมา Turtuk ต้องออกตัวก่อนเลยว่า “ค่อนข้างลำบาก ช้า และเหนื่อย” ถนนหนทางยังไม่ค่อยดี และยังเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง เนื่องจากอยู่ใกล้ชายแดนปากีสถาน เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ดังนั้นทางการอินเดียจึงไม่อนุญาตพลเมืองบางประเทศ อย่าง จีน ทิเบตหรือ ปากีสถาน เข้าใกล้หรือผ่านได้โดยง่าย ตลอดเส้นทางจึงมีจุดตรวจเอกสารการขออนุญาตเข้าพื้นที่ (Inner Line Permit) หลายต่อหลายจุด เพื่อเป็นการตรวจเช็คพลเมืองบางประเทศ เช่นประเทศมิตรไมตรี อย่างพี่ไทยเรา ก็ต้องทำใบเพอร์มิต หรือใบอนุญาตเข้าพื้นที่เสียก่อน เพราะถือว่าเป็นเขตควบคุมพิเศษ (Restricted Area)
ไฮไลท์ของที่นี่คือดงดอกไม้ ให้เราถ่ายรูปราวกับอยู่สวนแถบยุโรปก็มิปาน ผู้คนก็น่ารัก อัธยาศัยดี มีความทำไร่ทำสวนอยู่กันเงียบๆ ไป พืชผลหลักของที่นี่คือแอปปริคอทครับ
ดกดอกเกา
จาก Hunder เราออกกันแต่เช้า ราว 3 ชั่วโมง กับระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร
ผ่านทะเลทราย Hunder ยามเช้า ทรายสีทอง ส่องแสงสวยงามดีครับ
บรรยากาศสองข้างทางขนาบด้วยภูเขาลูกใหญ่ และเแม่น้ำ Shyok ที่ค่อนข้างเชี่ยว
แม่น้ำ Shyok แม่น้ำสายหลักที่ไหลไปยังปากีสถาน รถจะขับเลาะภูเขาสลับกับขับขนานแม่น้ำไปเรื่อยๆ น้ำเชี่ยวมากๆ เรากำลังตื่นตาตื่นใจกับบรรยากาศ 2 ข้าทาง
ระหว่างทางจะพบเจอกับสะพานข้ามเแม่น้ำ Shyok ทั้งแบบสะพานรถข้ามและสะพานคนข้าม เนื่องจากอีกฝั่งจะเป็นลานสังเกตการณ์ของทางเจ้าหน้าที่ทหาร
ยิ่งเข้าใกล้เขตชายแดนเท่าไร ก็ไม่ค่อยจะเจอคนหรือรถทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นรถทหารที่วิ่งร่วมอยู่บนเส้นทางเดียวกันกับเรา ซึ่งมีทั้งรถลาดตระเวน รถบรรทุกเชื้อเพลิงของทางการ รถบรรทุกขนสิ่งจำเป็นและหายากในเขตชายแดน
ถึงแม้สงครามในบริเวณนี้ดูเหมือนจะสงบลงแล้ว แต่ปัญหาการก่อการร้ายตามแนวชายแดนยังเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ อย่าแปลกใจหากไปแล้วจะเจอทหารเยอะมาก (ทหารห้ามถ่ายภาพนะครับ)
ตรงนี้เป็นสะพานรถข้าม ลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างกึ่งถาวร โครงสร้างเป็นเหล็ก ขนาด 1 เลนทำให้รถแล่นสวนผ่านกันไม่ได้ครับ ต้องรอการสับหลีกจากฝั่งตรงข้าม
ถนนหนทางค่อนข้างคดเคี้ยวไปตามไหล่เขา มีทั้งทางเรียบ ทางลูกรัง และทางที่ไม่ใช่ทางปกติ มีการลัดแม่น้ำในบางช่วง เพื่อให้ไปได้เร็วขึ้น
บางจุดก็เป็นทางเรียบทั่วไป
มองบรรยากาศสองข้างทางที่เป็นซอกเขาขนาบข้างถนนให้รถแล่นผ่านไปมาได้ แต่นานๆ จะเจอรถสวนผ่านมาสักคันนึง
จอดรถถ่ายรูปกันบนสะพาน เบื้องหน้าคือลำธารและน้ำตกขนาดไม่ใหญ่
มองจากบนสะพานทั้ง 2 ด้าน มีความต่างกันในวิว บรรยากาศ
เป็นจุดถ่ายรูปที่ดูเก๋ดี ต้องปีนสะพานไต่เหล็กมาจนถึงตรงกลาง ด้านล่างเป็นลำธาร สูงพอสมควร
ออกเดินทางกันต่อครับจากตรงนี้นับไปอีก 2 ชั่วโมงครึ่งจะถึง Turtuk
ถนนหนทางก็อย่างที่เห็น บางจังหวะก็เหมือนไม่ใช่ถนนให้รถแล่นผ่านได้ แต่เราก็ผ่านมันไปอย่างง่ายดาย
บางจุดจะเจอเจ้าหน้าที่ทำถนน ใช้แรงงานคนและเครื่องจักรขนาดเล็กเป็นหลัก ทำให้การก่อสร้างสาธารณูปโภค เป็นไปอย่างเชื่องช้า ทำงานภายใต้แสงแดดที่ร้อนระอุ
แต่อีกนัยหนึ่งก็คือเป็นการส่งเสริมให้คนมีงานทำ มีรายได้ ซึ่งคนงานส่วนใหญ่มาจากรัฐพิหาร รัฐที่ยากจนที่สุดของอินเดีย ที่ย้ายถิ่นฐานจากสภาพแวดล้อมที่แร้นแค้นและขาดแคลน เพื่อมาทำงานใช้แรงแลกกับเงินวันละ 100 รูปี
ระหว่างนี้ก็จะรอให้เจ้าหน้าทีทำให้เสร็จและให้สัญญาณก่อนถึงจะผ่านไปได้และไม่เป็นการรบกวนการทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะมากเกินไป
นั่งรถต่อมาได้อีกราวๆ 1 ชั่วโมงจะเจอคาเฟ่เล็กๆ ริมถนน ขอเค้าเข้าห้องน้ำได้ครับ ลักษณะเป็นเป็นส้วมหลุมปกติ ผู้ชายแนะนำให้เดินไปด้านหลังกองหินจะสะดวกกว่าครับและไม่เหม็นด้วย
เริ่มเข้าเขตชายแดนแล้วครับ มีป้ายต้อนรับ (อย่างไม่เป็นทางการ) บางจุดก็เป็นเหมือนสัญลักษณ์ในการบ่งบอกการแบ่งเขปปกครอง
รถแล่นผ่านหมู่บ้าน Bogdang ซึ่งน่าจะเป็นหมู่บ้านเดียวที่เห็น หรือผู้คนมากระจุกตัวกันอยู่ตรงนี้ก็ไม่รู้ทำให้บรรยากาศดูคึกคัก ค่อยเห็นผู้เห็นคนหน่อย เป็นหมู่บ้านแรกที่ถนนตัดผ่านใจกลางตรงไปยัง Turtuk เลย จากนี้ไปก็อีกเพียงสิบกว่าโลจะถึงจุดหมายแล้ว
มาถึงแล้วเจอป้ายต้อนรับแบบเรียบง่าย
Way to Turtuk
รถจะต้องจอดไว้ที่ริมถนนและลานจอดด้านล่างครับ ส่วนเราก็เดินขึ้นมาต่อด้านบนเพื่อจะข้ามฝั่งไปยัง Turtuk
มุมมองที่ให้เห็นสะพานเชื่อมที่จะนำพาไปยัง Turtuk
สังเกตใบไม้เริ่มเปลี่ยนสี ถ้ามาเดือนตุลาคมจะสวยกว่านี้ครับ มีความเปลี่ยนสีเปลี่ยนใบกันทั้งเมือง
มาถึงแล้วก็ต้องสัมผัสน้ำใสๆ จากสายธารเป็นการทักทายกันก่อนครับ น้ำเย็นมาก อุณหภูมิน่าจะเลขตัวเดียว เป็นน้ำที่เกิดจากหิมะละลายในช่วงฤดูร้อน ไหลมาเป็นลำธารขนาดเล็กที่พาดผ่านไปรอบหมู่บ้าน
แผนผังท่องเที่ยวภายในหมู่บ้านครับ ที่นี่มีร้านอาหารอยู่ 3-4 ร้าน บริการอาหารอินเดีย และอาหารจีน (รสชาติอินเดีย) ให้ทานครับ แนะนำว่าพกอาหารกลางวันจากที่โรงแรมมาทานจะดีกว่า
ชาว Baltistan เคยมีอาณาจักรเป็นของตัวเอง ใช้ภาษาของตัวเอง จนกระทั้งมีการพิพาทเรื่องดินแดน จนทำให้อินเดียบุกยึดแผ่นดินตรงส่วนนี้จากปากีสถาน
ส่วนภายในหมู่บ้านยังมีหลุมหลบภัย ให้ได้ไปชม เมื่อครั้งหมู่บ้านนี้ต้องตกอยู่ภายในสงครามระว่างอินเดียกับปากีสถาน
เข้ามาในหมู่บ้าน ต้องใช้การเดินเท้าเพื่อชมบรรยากาศเท่านั้นครับ เราเดินไปเรื่อยๆ ตามลำธารธรรมชาติ เพื่อเข้าไปในหมู่บ้านที่เน้นทำการเกษตร จะเห็นทุ่งข้าวสาลีซึ่งขณะนี้ถูกเก็บเกี่ยวเกือบหมดแล้ว
Turtuk ประกอบด้วยสองหมู่บ้าน หนึ่งในนี้คือ Pharol ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขา มีค่ายทหารเล็กๆ คอยดูสถานการณ์และมีบริการเกสต์เฮาส์หลายแห่ง แต่ราคาก็ไม่ได้แพงมากนัก อาหารเหมาะสำหรับคนที่ทานค่อนข้างง่าย แต่อร่อย ทุกอย่างเป็นมังสวิรัติเพราะมันเป็นเรื่องยากที่จะเลี้ยงสัตว์เพื่อรับประทาน
แคมเปญแรกของเราในครั้งนี้คือการปีนต้นแอปปริคอท ตัวต้นไม่สูงมากแต่ปีนยากเพราะไม่มีกิ่งก้านให้ไต่ขึ้นได้โดยง่าย
ชาว Turtuk ไม่ใช่ชาวปากีสถาน ตัวเค้าจะบอกว่าเป็นชาว Baltistan ภายนอกดูจะขี้อาย แต่ก็ไม่ถึงกับกลัวกล้องครับ ดูนิ่งๆ ไม่ตื่นเต้นเท่าไร มียิ้มให้เล็กน้อยเมื่อยกกล้องขึ้นมาถ่าย พูดภาษาอังกฤษได้เล็กน้อย คนที่นี่พูดภาษา Urdu, Ladakhi, Balti และ Hindi เป็นหลัก
วิถีชีวิตที่นี่ดำเนินชีวิตตามแบบของชาวมุสลิมที่เคร่งครัด แต่อัธยาศรัยไมตรีของผู้คนที่นี่ ก็ดูใจดี เปิดกว้าง โดยรวมก็ถือว่ามีอัธยาศัยไมตรีที่ดีต่อนักท่องเที่ยวครับ
ถ่ายรูปต่อไม่รอแล้วนะ
ดอกไม้นี้มีชื่อว่า ดอกเกาครับ ดูไกลๆ ก็เหมือนสวยดี มีความกระจุ๋มกระจิ๋มน่ารัก ยิบๆ ยับ แต่พอเข้าไปใกล้ๆ กลิ่นค่อนข้างแรงครับ
สวยแต่รูปจริงๆ
เวลาถ่ายภาพให้มีดอกไม้เป็นโฟร์กราวด์ หรือฉากหน้า เอาแบบว่าไม่ต้องชัดมาก เน้นตัวแบบหรือคน ให้เด่นๆ แต่ก็ไม่ลืมบริบทรอบข้าง ก็จะช่วยให้รูปภาพนั้นดูดีขึ้นมาได้
หน้าตานายแบบไม่ค่อยดี ต้องอาศัยเทคนิคการถ่ายรูปเข้าช่วยครับ แหะๆ
เป็นมุมที่ถ่ายรูปสวยมาก จริงๆ สำหรับทุ่งดอกเกา
ต้นไม้ใหญ่จะเป็นต้นแอปปริคอท และแอปเปิล ที่กำลังออกลูกดกอยู่เต็มต้น บางส่วนตกหล่นเกลื่อนกลาดอยู่ตามพื้นดิน เราได้ลิ้มรสชาติแอปปริคอทสดๆ จากต้น และสามารถซื้อผลิตภัณฑ์จากแอปปริคอทเป็นของฝากกลับไปทานได้ครับ
เที่ยวราวๆ 2 ชั่วโมงก็ทั่วหมู่บ้าน แนะนำให้หาอะไรทานก่อนกลับ เพราะเกรงว่าจะนั่งรถอีกนานครับ จากนั้นก็ได้เวลาลงจากหมู่บ้านเพื่อเตรียมตัวกลับนูบร้าวัลเลย์แล้วครับ
การเดินทางช่วยสร้างโอกาสให้มนุษย์ต่างถิ่น ต่างภาษา ต่างศาสนา และต่างวัฒธรรม ได้เกิดปฏิสัมพันธ์ต่อกัน
นั่นจึงเป็นที่มาของภาพนี้ครับ
บรรยากาศยามเย็นช่วงอำลาหมู่บ้าน Turtuk กลับเข้าสู่ Hunder