Sriprakard Chiangmai

✨🙏🏻✨สวัสดี, ศรีประกาศ Sriprakard Chiangmai

อาคารโคโลเนียลล้านนาอายุ 100 กว่าปีที่เป็นโรงแรมมาก่อน

อดีต #แลนด์มาร์กตำนานเชียงใหม่ ที่ไม่ว่าใครมาก็ต้องเช็คอิน

_

ไม่ไกลจากขัวเหล็ก หรือสะพานเหล็ก จุดถ่ายรูปเช็คอินที่เราเคยเห็นในภาพยนตร์หลายเรื่องที่มาถ่ายทำกันที่เชียงใหม่ เป็นที่ตั้งของเรือนโบราณหลังใหญ่ สร้างขึ้นก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง สภาพก็เป็นไปตามอายุขัย นับจนถึงปัจจุบันได้ 117 ปี

“ศรีประกาศ” คือชื่อของอาคารริมแม่น้ำปิง บนถนนเชียงใหม่-ลำพูนสายเก่าหลังนี้ ในอดีตเคยเป็นโรงแรมลำดับที่ 4 ของเมืองเชียงใหม่ เป็นแลนด์มาร์กที่มาก่อนกาลเวลา เพราะถือว่าเป็นสถานที่พักค้างแรมที่มีชื่อเสียงมาก ตั้งอยู่ระหว่าง 3 ชุมชนคือสันป่าข่อย ท่าสะต๋อยและวัดเกตการาม

กานต์ได้พบและพูดคุยกับพี่อ้อ-กิ่งแก้ว สุจริตพานิช ทายาทรุ่นที่ 3 ของหลวงศรีประกาศ ซึ่งได้กรุณาบอกเล่าเรื่องราวของอาคารอนุรักษ์แห่งนี้ไว้อย่างน่าสนใจ จึงอยากนำมาเล่าต่อให้ได้อ่านกันครับ

พี่อ้อได้เล่าย้อนถึงความเป็นมาของย่านนี้ที่มีความผสมผสานระหว่างคนไทยล้านนากับชาวตะวันตก “จะเห็นว่ามีอาคารที่เกี่ยวกับคริสตจักรอยู่เยอะมากในย่านนี้ เนื่องจากที่นี่ในอดีตเป็นเขตนอกคูเมือง บ้านเรือนในย่านนี้จึงมีลักษณะผสมผสานระหว่างคริสเตียนกับล้านนาและมีกลิ่นอายของจีนเข้ามาเล็กน้อย เนื่องจากช่างน่าจะเป็นชาวจีน”

ย้อนกลับไป ก่อนหน้าจะมาเป็นโรงแรมศรีประกาศ ที่นี่เคยเป็นบ้านของศรีโหม้ วิชัย คนเชียงใหม่คนแรกที่เดินทางไปอเมริกา เมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว ในอดีตอาคารหลังนี้ถูกใช้งานมาหลายรูปแบบ ต่างกรรมต่างวาระ ทั้งเคยเป็นโรงเรียนพัฒนาวิทยา สวนสัตว์เอกชนเชียงใหม่ สำนักพิมพ์สหายชาวสวน และเมื่อพ่อหลวงศรีโหม้ได้ขายอาคารหลังนี้ให้กับหลวงศรีประกาศ หรือ นายฉันท์ วิชยาภัย เขยเชียงใหม่ที่เคยเป็น ส.ส.คนแรกของเวียงพิงค์ ก่อนจะดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี ผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เชียงใหม่มีสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ซื้อรถดับเพลิง สร้างโรงพยาบาล สนามกีฬา โรงเรียน สนามเด็กเล่น สร้างสะพานคอนกรีตข้ามน้ำแม่ข่า และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนครูบาศรีวิชัยในการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ

หลวงศรีประกาศ ได้พัฒนาบทบาทของอาคารหลังนี้ให้เป็นสถานพยาบาลในระหว่างสงครามต้นกำเนิดโรงพยาบาลจินดาสิงหเนตร ก่อนจะปรับปรุงให้เป็นโรงแรมขนาด 24 ห้องพักที่ต่อเติมอาคารขึ้นใหม่ทางด้านหลัง เพื่อรับรองแขกบ้านแขกเมือง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และเหล่าพ่อค้า คหบดีที่ขึ้นมาเชียงใหม่ พร้อมทั้งเปิดภัตตาคารศรีประกาศ หนึ่งในร้านอาหารชื่อดังของเมืองเชียงใหม่ในอดีต

ศรีประกาศเป็นอาคารแบบโคโลเนียลล้านนา มีด้วยกัน 2 ชั้น ทาสีเหลืองสีเดียวกับดอกลมแล้งที่ปลูกอยู่ใกล้ๆ เป็นอาคารครึ่งปูนครึ่งไม้ที่ใส่อัตลักษณ์ของบ้านสไตล์ล้านนาเอาไว้หลายอย่าง เช่น บานเลื่อนที่ทำหน้าที่แทนหน้าต่าง ภาษาเหนือเรียกว่า “ฝาไหล” สามารถเปิดปิดเพื่อให้แสงเข้าหรือป้องกันแสง กระจายอยู่ทั่วตัวอาคาร หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาที่ทำตะขอเอาไว้เกี่ยวกับระแนง ผนังปูนเปลือย มีไม้ระแนงตีเป็นช่องลมโดยรอบ ชั้นล่างมีประตูเปิดเข้าสู่ห้องโถงด้านใน เรียกว่า “ต๊อม” และมีลานโล่งอยู่ชั้นบนของบ้านเรียกว่า “เติ๋น” ชื่อเรียกเหล่านี้กานต์เรียกเองตามความเข้าใจในฐานะที่คุ้นเคยกับบ้านล้านนาลักษณะมาตั้งแต่เกิดครับ

ผมเดินเข้าไปยังห้องโถงชั้นล่าง ซึ่งอยู่ระหว่างการบูรณะพบร่องรอยการใช้งานและพักอาศัย เพราะยังมีเก้าอี้ที่เป็นชุดรับแขกของบ้านหลวงศรีประกาศ อายุเกือบ 100 ปี มีโต๊ะตั่งวางไว้ทั่วบริเวณห้อง เพราะหลายครั้งที่ใช้จัดงานเลี้ยงและทำกิจกรรมต่างๆ ผมชอบโต๊ะริมหน้าต่างที่ติดเหล็กดัดสไตล์โบราณเอาไว้ มีโคมไฟส่องสว่างเล็กน้อย เพราะอาศัยแสงจากภายนอกเข้ามาเพิ่ม มีม่านผ้าลูกไม้คอยบังไว้ให้ความเป็นส่วนตัว มุมนี้เป็นมุมสบายๆ ของหลวงศรีประกาศที่ชอบมานั่งอ่านหนังสือในช่วงบ่ายวันหยุด

เดินขึ้นบันไดมาก มีเสียงเล็กน้อยเป็นร่องรอยความผุผัง เมื่อขึ้นไปชั้นบน จะพบว่ามีห้องถูกซอยแบ่งออกเป็นหลายห้อง ภายในห้องพัก ตอนนี้เป็นเพียงห้องโล่งๆ และมีห้องน้ำอยู่ด้านในสุดของห้องพัก

ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป เมืองเชียงใหม่ที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว มีอาคาร ร้านค้า สถานบันเทิงเกิดขึ้นริมแม่น้ำปิง ทำให้อาคารโครงสร้างไม้ลักษณะนี้ไม่เหมาะที่จะรับรองแขกพักค้างอีกต่อไป กอปรกับเชียงใหม่มีโรงแรมใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย โรงแรมศรีประกาศจึงได้ปิดตัวลงเมื่อปีพ.ศ.2545

“ที่ดินตรงนี้จะสร้างอาคารใดๆ ขึ้นมาอีกไม่ได้ เพราะติดเรื่องกฎหมายผังเมืองที่ต้องการให้เก็บโซนนี้ไว้เป็นที่โล่ง จึงไม่สามารถรื้อได้ ซึ่งในใจก็ไม่อยากให้รื้อ จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ เหมือนในต่างประเทศ ก็เลยนำอาคารมาทำเป็นสถานที่จัดกิจกรรมที่ดีและเป็นประโยชน์ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับน้ำใจจากผู้คน ชุมชน นักท่องเที่ยว มูลนิธิ เป็นจำนวนมากในความต้องการอยากจะฟื้นฟูและอนุรักษ์อาคารนี้เอาไว้ ซึ่งต้องใช้เวลาในการซ่อมแซม เพื่อให้อาคารศรีประกาศหลังนี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง”

กานต์ จอมอินตา – สัมภาษณ์ / ถ่ายภาพ

อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติม

https://www.facebook.com/sriprakard/
https://themomentum.co/sriprakard-chiangmai-weaving-our…/
https://www.matichonweekly.com/column/article_130302
KΔNT
KΔNT

อดีตผู้ประกาศข่าวสายเศรษฐกิจ เจ้าของเพจ KANT.CO.TH ชื่นชอบในไลฟ์สไตล์ การท่องเที่ยวพักผ่อน ในโรงแรมหรู สนใจเรื่องราวงานดีไซน์ อสังหา การตลาด การลงทุน