Nepal : Pass The Love Forward

เนปาลตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 60 เมตร จนถึงจุดสูงสุดของโลกคือ ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ 8,848 เมตร นั่นจึงเป็นเหตุทำให้เนปาลเป็นประเทศท่องเที่ยวติดอันดับต้นๆ ของโลกเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวขาลุยที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์แบบ Adventure

ภายใต้ความสวยงามของภูมิประเทศที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย ทำให้เนปาลมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างฮินดูและพุทธ จึงมีสถาปัตยกรรมอันเก่าแก่ มีศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ที่จะนำเราย้อนกลับไปสู่วันเวลาเก่าๆ

น่าเสียดายและน่าเสียใจ เคยเกิดแผ่นดินไหวที่เมืองกาฐมัณฑุ สร้างความเสียหายและบอบช้ำทั้งทรัพย์สินและชีวิตจิตใจ หลังจากเหตุการณ์ร้ายๆ ผ่านไป ทำให้เนปาลในวันนี้อยู่ระหว่างการพักฟื้น เพื่อรอวันกลับคืนสู่ความสวยงามดังเดิม วันนี้เนปาล พร้อมแล้วที่จะรอการทักทายจากเรา ในฐานะผู้มาเยือน … อีกครั้ง

ไปเถอะ ไปเที่ยวเนปาลกัน
เราไปเพื่อให้เห็นกับตาว่า
… หลังวันวานผ่านพ้นไป
เนปาล … จะเป็นอย่างไร

เนปาล มีพื้นที่ 0.1% ของโลก ประชากร 101 เผ่าพันธุ์ มีภาษาทั้งหมด 92 ภาษา นับประเทศเล็กๆ ที่สวยงาม จนได้รับสมญานามจากชาวยุโรปว่าเป็น “สวิสเซอร์แลนด์แห่งแดนเอเชีย”

#กานต์เดินทาง ในเนปาลครั้งนี้ ใช้เวลา 4 วัน 3 คืน เพื่อตระเวนเก็บแลนด์มาร์ค ในหุบเขากาฐมัณฑุ เนปาล รวมไปถึงการสำรวจวิถีชีวิตหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน

เนื่องจากกาฐมัณฑุเป็นเมืองในหุบเขาและมีฝุ่นเยอะ แถมควันรถก็เยอะพอสมควร ก่อนไป ก็คิดว่าจะเจอฝุ่นเยอะมาก
ทำใจมาแล้วระดับหนึ่ง  แต่ของจริงที่เจอเยอะเกินที่จิตนาการไว้มากครับเราจึงควรจะติดผ้าปิดปากไปด้วย เอาไปหลายผืนก็ดี

เนปาลเป็นเหมือนเมืองลับแลที่รอการพิสูจน์ค้นหา เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งเทือกเขาหิมาลัย เป็นสถานที่ประสูติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และยังเป็นที่ตั้งของยอดเขาเอเวอร์เรสซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกด้วย

ยอดเขาเอเวอร์เรส ที่ตั้งสูงตระหง่านเสียดฟ้า รอท้าทายนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัสความสูงที่สุดในโลกคือ 8,848 เมตร ปัจจุบันจึงมีนักปีนเขามากมายทั้งมือใหม่ มืออาชีพมาปีนเขาที่เนปาล

เนปาลเป็นประเทศที่มีความหลากหลาย มีความน่าสนใจในด้านต่างๆ ทั้งทางศาสนาฮินดูที่มีอิทธิพลและได้รับการเคารพนับถือจากชาวเนปาลมาจนถึงปัจจุบัน โบราณสถาน เทวสถาน ศาสนสถาน ทั้งในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทและมหายาน

เนปาลยังมีแหล่งท่องเที่ยวผจญภัย ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเดินป่า ปีนเขา ล่องแก่ง ล่าสัตว์ พายเรือแคนู ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าต่างๆ เหล่านี้ก็กลายเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวหันมาให้ความสนใจเดินทางมายังประเทศเล็กๆ ที่ซุกตัวอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย

ตามตำนานหุบเขากาฐมัณฑุ แต่เดิมเป็นชุมชนเล็กๆ อยู่ริมทะเลสาบกว้าง พระนางมัญชุศรี (Manjushri) ได้ใช้ดาบฟันภูเขาตรงจุดโตรกโชบาร์ (Chobar Gorge) จนขาดเป็นช่องทำให้น้ำไหลออกจากทะเลสาบจนหมดสิ้น กลาบเป็นที่ราบกลางหุบเขากาฐมัณฑุ และสามารถสร้างเป็นเมืองได้จนถึงปัจจุบัน จนทำให้กาฐมัณฑุ กลายเป็นเมืองหลวงของเนปาล
สภาพโดยทั่วไปในกาฐมาณฑุ ถ้าเป็นโซนสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆมันก็จะพลุกพล่านไปด้วยนักท่องเที่ยวที่เดินชมเมือง และชาวเนปาลที่นั่งชิลรับแดดรับลมอยู่ตามข้างทาง ซึ่งเป็นภาพที่พบเห็นจนชินตา รายล้อมไปด้วยร้านขายของที่ระลึกต่างๆ หรือนั่งปูผ้าขายผักผลไม้กันตามท้องถนน
ส่วนธงสามเหลี่ยม 2 ชั้นสีแดงขลิบน้ำเงินที่เห็นเป็นธงชาติของเนปาล สีน้ำเงินบนธงหมายถึงสันติภาพ ส่วนสีแดงเลือดหมูนั้นเป็นสีประจำชาติของเนปาล สำหรับสัญลักษณ์บนธงนั้นเป็นตราประจำราชสำนักที่ใช้แทนความหมายว่า เนปาลจะคงอยู่ต่อไปตราบนานเท่านาน เช่นเดียวกับดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ซึ่งดวงจันทร์ด้านบนหมายถึงพระมหากษัตริย์ที่ปกครองประเทศ ส่วนดวงจันทร์ด้านล่างนั้นหมายถึงราชวงศ์รานา อีกความหมายนึงบอกว่า สามเหลี่ยมหมายถึงเทือกเขาหิมาลัยที่มียอดเขาเอเวอเรสต์ตั้งอยู่ อีกทั้งยังหมายถึง 2 ศาสนาที่สำคัญในประเทศ คือพุทธและฮินดู

ไฮไลท์ของ เนปาล คือความสวยงามของเทือกเขาหิมาลัยและสถาปัตยกรรม นักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวเนปาลเกือบทั้งหมดจึงมีเป้าหมายไปชมความสวยงามของธรรมชาติ ความสวยงามของเทือกเขาหิมาลัย ความสวยงามของวัดและวังที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรม แม้ว่าวันนี้ บางส่วนจะกลายเป็นเพียงแค่อดีตไปแล้วก็ตาม

องค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติ ได้ขึ้นทะเบียนให้เมืองในหุบเขากาฐมัณฑุ อาทิ ปาทัน ภักตะปูร์ เป็นมรดกโลกลุมพินี สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า รวมไปถึงอุทยานแห่งชาติป่าจิตวัน และยอดเขาเอเวอร์เรส ในอุทยานแห่งชาติสักการะมาตา ด้วย

กาฏมณฑป มาจากคำว่า “กาษฐะ” และ “มณฑป” มีความหมายว่า เรือนไม้ทรงสี่เหลี่ยม เป็นศาลาหลังแรกที่สร้างขึ้นก่อนอาคารใดๆ ในบริเวณนี้ หลังจากนั้นจึงมีการสร้างพระราชวังและเทวาลัยต่างๆตามมา ซื่อ “กาฏมณฑป” ต่อมาได้กลายเป็นชื่อเมืองกาฐมัณฑุในเวลาต่อมา
อาณาบริเวณหุบเขากาฐมัณฑุ ยังเป็นศูนย์รวมประวัติศาสตร์ ศิลปวัตถุ โบราณสถาน สถาปัตยกรรม โบสถ์ เทวสถาน เจดีย์ พระราชวัง จตุรัสและตลาด สถานที่เหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องยืนยัน ถึงความมีอารยธรรม และสืบสานวัฒนธรรม ที่รุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2015 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ริกเตอร์ ที่กาฐมัณฑุ เมืองหลวงของเนปาล ซึ่งเป็นเหตุการณ์ร้ายแรง นอกจากจะนำมาซึ่งความสูญเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมากแล้ว โบราณสถานเก่าแก่อายุหลายศตวรรษ และเป็นมรดกโลกยังได้รับความเสียหายร้ายแรงหลายแห่ง .. จนเกือบจะพูดได้ว่า ไม่อาจสร้างขึ้นมาทดแทนให้เหมือนเดิมได้แล้ว

เนปาลถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ยากจน รายได้หลักขึ้น อยู่กับผลผลิตภาคเกษตรกรรม จึงทำให้เนปาลได้รับความช่วยเหลือจากต่างชาติในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะเหตุร้ายที่เกิดขึ้นล่าสุดคือแผ่นดินไหวใจกลางกาฐมัณฑุ ที่สร้างความเสียหายให้กับเนปาลเป็นจำนวนมาก

ตามสถานที่ท่องเที่ยว ส่วนมากกำลังเร่งบูรณะ  เนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวทุกอย่างเป็นไปอย่างเชื่องช้า ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ เช่น งบประมาณ กำลังคน เทคโนโลยี ฯลฯ ทำให้เนปาลในวันนี้ โดยทั่วๆ ไปก็ดูเรียบร้อยดี ไม่ได้แย่อย่างที่คิด แต่ก็ไม่ดีมากเท่าไร

สิ่งประดิษฐ์ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ จะได้รับการรักษาความปลอดภัยเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันรัฐบาล ยังมีแผนการดำเนินการในการบูรณะ สถานที่ท่องเที่ยวทั้งหมดให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ภายในระยะเวลา 5-7 ปี ซึ่งต้องใช้งบประมาณราว 100 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3,370 ล้านบาท

เป็นธรรมดาของประเทศด้อยพัฒนา การก่อสร้างที่ว่าล่าช้าแล้ว การซ่อมแซมปรับปรุงบูรณะ ช้ากว่าอีก!!
โบราณสถานหลายแห่ง ยังบูรณะยังไม่เสร็จเหมือนเดิมทั้งหมดคงต้องใช้เวลาอีกนานครับ ส่วนที่เสียหายบางจุด ดูเหมือนยังไม่ไดรับการบูรณะเลยก็มีเป็นไปค่อนข้างล่าช้ามาก  บางจุดที่เสียหายไม่มากก็กำลังปรับปรุงอยู่ไม่รู้ว่าปัจจัยในการซ่อมแซมเกิดจากอะไรบ้าง
คนงานกำลังเร่งซ่อมแซม บูรณะสถานที่ให้กลับมามีมนต์ขลังดังเดิม ที่นี่จะใช้กำลังคนเป็นหลังไม่นิยมใช้เครื่องจักร เนื่องจากยังไม่มีวิทยาการการก่อสร้างที่ทันสมัยและเพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน

ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ ได้ให้การช่วยเหลือเนปาลในการฟื้นฟูโบราณสถาน ภายหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว

ย่านปาตันเดอร์บาร์สแควร์ ก็ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวเช่นกัน การบูรณะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปอาศัยงบประมาณจากรัฐและเงินจากต่างประเทศที่มาอุดหนุน

ภาพของนั่งร้านที่วางคร่อมไปทั่วเมืองกาฐมัณฑุ เป็นภาพสะท้อนที่ร่องรอยที่หลงเหลือและการซ่อมแซม สรรสร้างใหม่ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ใครมาเที่ยวช่วงนี้อาจจะรู้สึกขัดหูขัดตาไปบ้าง แต่อย่าให้ถึงขั้นขัดใจ แล้วไม่ยอมมาเพราะว่าในวันนี้ เนปาลต้องการเม็ดเงินมหาศาลในการฟื้นฟู

เรามาดู มาให้กำลังใจชาวเนปาล ด้วยการท่องเที่ยวดีกว่า

ตอนนี้เนปาลได้มีการเปิดให้นักท่องเที่ยว เข้าไปเที่ยวชมโบราณสถานต่างๆ อย่างเป็นทางการ  บางส่วนอนุญาติให้เข้าไปภายในอาคารได้แล้วโดยเฉพาะสถานที่เที่ยวไฮไลท์ต่างๆ รวมถึงเศษซากปรักหักพัง จะได้รับการทยอยบูรณะ 

เมื่อเนปาลเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สามารถไปท่องเที่ยวได้เหมือนเดิม มนต์เสน่ห์แห่งหิมาลัยยังคงดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากเช่นเคยกวาดตามองไปยังใบหน้าของนักท่องเที่ยวมีทั้งยุโรป เอเชีย

หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวผ่านไป ผู้คนที่กาฐมัณฑุยังคงดำเนินวิถีชีวิตเช่นเดิม มีการตั้งวงพบปะพูดคุย ขายของเป็นภาพที่เห็นกันจนชินตา น่าเสียดายที่แปลไม่ออกว่า เรื่องที่พวกเขาคุยกันนั้น … เป็นหัวข้ออะไร

เนปาลเป็นประเทศที่มีมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่ยังคงมีชีวิต สังเกตได้จากวัดหรือวังยุคโบราณ ซึ่งยังคงทำหน้าที่ตอบสนองต่อชุมชน เป็นที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจ พบปะพูดคุยกัน โบราณสถานเหล่านี้ไม่ได้ถูกเก็บรักษาเพื่อการท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่ยังคงให้บริการชุมชนและรักษาวิถีชีวิตแบบเดิม จากอดีตจนถึงปัจจุบันหลายร้อยปีหลายพันปีมาแล้ว ภาพที่เห็นนี้จึงเป็นภาพที่ชินตามาก

มาเช็คอินกันหน่อย ณ วัดลิงหรือ สวยัมภูวนาถ อากาศกลางวันสบายๆ ครับ 10 องศาต้นๆ แต่แดดแรงพอสมควร แนะนำให้ทากันแดดกันฝ้า มาด้วยไม่งั้นกลับไป หน้าพังแน่นอน แค่ฝุ่นก็ทำร้ายเรามากพอแล้

ชาวเนปาลเรียกดวงตาคู่นี้ว่า “ฮัมมิกะ” (Hermika) หรือ “ดวงตาเห็นธรรม” ซึ่งยืนยงท้าทายความอยากรู้อยากเห็นของผู้คน ให้เดินทางมาแสวงหาความจริงอันเร้นลับแห่งวิถีชีวิตวัฒนธรรมเนปาล ซึ่งผสมผสานศาสนาฮินดูกับพุทธเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน

“ดวงตาแห่งบายน” เป็นดวงเนตรแห่ง “อวโลกิเตศวร” พระโพธิสัตว์ผู้เป็นใหญ่ในโลก ผู้มองลงมาเบื้องล่างอย่างมีเมตตา แม้จะทรงสั่งสมทานบารมีจนพร้อมจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว แต่ยังไม่ทรงไปไหน คอยช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากให้ก้าวพ้นบ่วงทุกข์ไปสู่แดนนิพพานอันเป็นสุขนิรันดร์มักพบในประเทศที่นับถือพุทธนิกายตันตระวัชรยาน

จอดรถที่ลานกว้างหน้าวัด จากนั้นซื้อตั๋วเพื่อเข้ามาภายใน นอกจากนักท่องเที่ยวที่นิยมมาเที่ยวที่วัดลิงแห่งนี้แล้ว คนท้องถิ่นก็มาเที่ยวเยอะเหมือนกันสังเกตได้จากรถรา แน่นเต็มพื้นที่จนต้องขยับมาจอดไหล่ทางแบบนี้

มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางมาที่นี่เป็นจำนวนมาก ด่านแรกหน้าประตูจะเป็นที่จำหน่ายตั๋ว จากนั้นจะเดินขึ้นบันได 365 ขั้น ไปยังเจดีย์ด้านบน สองข้างทางของบันไดเป็นรูปปั้นสัตว์ต่างๆ ที่เป็นพาหนะของพระธยานิพุทธเจ้าเรียงรายอยู่ตามขั้นบันได

วัดนี้เป็นจุดกำเนิดของหุบเขาและผู้คนกาฐมัณฑุ ตามความเชื่อของชาวพุทธ เจดีย์สวายัมภูวนาถถือเป็นเจดีย์ที่เก่าแก่ที่สุดของเนปาลและของโลก สันนิษฐานว่ามีอายุราว 2,000 ปีเศษ เป็นหนึ่งในวัดพุทธนิกายมหายานที่นักแสวงบุญเชื่อมั่นในความศักดิ์สิทธิ์ ตามตำนานเล่าว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับนั่งสมาธิ ณ วัดแห่งนี้

พระพุทธเจ้าทรงโยนเมล็ดบัวแห้งลงไปในทะเลสาบ เมล็ดบัวนั้นงอกเงยเป็นดอกบัวใหญ่เปล่งรัศมีกระจายไปทั่วทะเลสาบ เป็นนิมิตหมายว่า พระพุทธศาสนา จะสามารถเจริญรุ่งเรืองแผ่ไพศาลไปบนผืนแผ่นดินนี้  จึงถือว่าวัดนี้คือจุดศักดิ์สิทธิ์ที่พระวิปัสสี ประทับนั่งสมาธิและสร้างแผ่นดินให้เกิดเป็นหุบเขากาฐมัณฑุมาจนถึงทุกวันนี้

ส่วนลิงที่มีอยู่มากมายภายในวัดนั้น ตามตำนานเล่าว่า “พระโพธิสัตว์ มัญชุศรี” ทรงปลิดพระเกศาลงมากลายเป็นต้นไม้ ขณะที่เหาร่วงลงมาเป็นลิง พักพิงที่พระเจดีย์มาตราบเท่าทุกวันนี้ จนผู้คนเรียกวัดนี้ว่า “วัดลิง” เวลาเดินต้องระวังกระเป๋า เพราะลิงจะเข้ามาแย่ง และอย่าทำท่าล้วงของ เดี๋ยวเจ็บตัว

เบื้องล่างช่องกำแพงเป็นบันไดสำหรับเดินขึ้นมาจากอีกด้านของเจดีย์ ค่อนข้างสูงชัน เมื่อขึ้นมาถึงด้านบนสามารถชมทัศนียภาพของตัวเมืองกาฐมัณฑุได้โดยรอบจากลานพระเจดีย์ มองเห็นทิวทัศน์ของเมืองกาฐมัณฑุที่ดูสงบนิ่ง ล้ำลึก มีภาพแบ็คกราวด์เป็นเทือกเขาสูง มีหลังคาบ้านคนเรียงรายกันไปเป็นวงกว้างตามพื้นที่ราบ เป็นภาพที่งดงามยิ่งนัก

การบูชาองค์เจดีย์สวายัมภูวนาถทำได้หลายวิธี เช่น การถวายดอกไม้ธูปเทียน การจุดตะเกียงน้ำมันเนย การผูกผ้า ใน 1 ปีจะมีการบูชาครั้งใหญ่ 4 ครั้ง คือการฉาบองค์เจดีย์ให้เป็นสีขาวสะอาด โดยการเทสีน้ำสีขาวลงมาจากส่วนยอด ให้กระจายทั่วพื้นผิวของเจดีย์ ไม่ใช้การทาสีด้วยแปรงหรือลูกกลิ้ง

จากนั้นจะประดับประดาด้วยธงริ้วขนาดเล็ก ที่ผูกต่อกันเป็นสาย โยงจากบนยอดเจดีย์มาผูกยังฐานข้างล่าง โดยธงแต่ละผืนจะเขียนบทสวดมนตราเอาไว้ทุกผืน มีอยู่ 5 สี คือ เหลือง แดง เขียว ขาว และน้ำเงิน เชื่อกันว่าเป็นสีสื่อแทนมหาธาตุที่สร้างโลกและจักรวาลหมายถึง ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศ

ตามความเชื่อของชาวพุทธวัชรยาน ถือว่าการสวดมนต์ภาวนาเป็นสิ่งสำคัญ ในการปฏิบัติตามหลักธรรมประการหนึ่ง ดังนั้นนอกเหนือจากการสวดมนต์ด้วยตนเองแล้ว การกระทำอื่นๆ ที่ช่วยให้มีผลต่อการสวดมนต์นั้นๆ ก็จะกระทำด้วย ซึ่งเป็นที่มาของ “ธงมนต์” (Prayer Flag) ที่ผูกไว้ทั่วเมืองโดยเฉพาะตามที่สูง

รอบนอกขององค์เจดีย์มองเห็นเป็นสีเหลืองอ่อนๆ ปนน้ำตาล ดูคล้ายกับเป็นรูปกลีบบัวสีเหลืองที่ค่อนข้างซีด อาจจะเพราะโดดแดดเผาทุกวัน

ตามเจดีย์มีธง 5 สี ซึ่งเป็นธงมนตรา หรือธงภาวนา ที่ชาวเนปาลและชาวทิเบตนิยมนำมาประดับองค์เจดีย์ เพื่อให้ลมช่วยสวดมนต์ แล้วพัดพาเอามนต์ไปคุ้มครองผู้ผ่านทางให้ปลอดภัย โชคดีใกล้กันเป็นเทวรูปตั้งอยู่เรียงราย

เมื่ออยู่ในบริเวณเทวาลัย และมหาเจดีย์สวยัมภูวนาถ … เราจะเห็นการผสมผสานศรัทธาและความเชื่อทางศาสนา และรูปเคารพที่มีทั้งเทวรูปฮินดู และพระพุทธรูป ผสานอยู่ในจิตวิญญาณที่เปี่ยมศรัทธาของชาวเนปาล น่าเสียดายที่บางส่วนได้พังลงมา ขณะเดียวกันก็เป็นจุดที่ถือได้ว่ามีการเร่งซ่อมแซมบูรณะอย่างรวดเร็ว

จากวัดลิง นั่งรถต่อมาขึ้นเขานากาก็อต อยู่ห่างจากกาฐมัณฑุ 35 กิโลเมตร  เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อ สำหรับการชมวิวดูพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก ซึ่งจะเห็นเทือกเขาหิมาลัยได้อย่างสวยงาม และหากอากาศดีจะสามารถเห็นยอดเขาเอเวอร์เรส (Mount Everest) ด้วย คืนนี้จะได้พักค้างคืนบนภูเขาที่โรงแรม คลับหิมาลายา (Club Himalaya) เป็นโรงแรมเล็กๆ ที่จองยากมาก เพราะโลเคชั่นโดดเด่นที่สุด เพราะตั้งอยู่ในจุดชมวิวที่เห็นแนวเทือกเขาหิมาลัยได้เป็นมุมกว้างและชัดเจนที่สุด

มาถึงแล้ว 
เช็คอินเสร็จต้องรีบขึ้นไปเก็บภาพพระอาทิตย์ตกที่ดาดฟ้าของโรงแรม …ยืนดูพระอาทิตย์อัสดงกำลังจะลับเหลี่ยมขุนเขาด้านทิศตะวันตก แต่อีกด้านตรงเบื้องหน้าเรา ลำแสงอาทิตย์สะท้อนส่องจับยอดหิมาลัยโดดเด่นเป็นสีทองเหนือม่านเมฆ สวยงามมากๆ 
นั่งดูนานอยู่จนกระทั่งดวงอาทิตย์สีส้มลับหายไปพร้อมกับลำแสงสุดท้ายวูบลง ทันใดนั้นอากาศเย็นลงทันทีลมภูเขาพัดแรงราวกับจะไล่ให้เรารีบกลับเข้าด้านในตัวอาคาร
… ทานดินเนอร์ที่นี่แหละ ห้องอาหารที่โรงแรมมีหิมาลัยเป็นแบ็คกราวด์
ภาพนี้ถ่ายจากดาดฟ้าโรงแรมคลับหิมาลายาบนเขานากาก็อต ซึ่งอยู่ห่างจากหิมาลัยเพียง 35 กม. เท่านั้น
หิมาลัยอยู่ใกล้ในระดับสายต

โรงแรมคลับ หิมาลายา ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีมาก ตามมาตรฐานของโรงแรมบนเขา ท่ามกลางความทุลักทุเลของการเดินทาง จากกาฐมัณฑุ ขึ้นมาบนเขานากาก็อต ซึ่งทำได้ไม่ง่ายนัก ที่นี่มีฮีทเตอร์ให้ในห้อง มีน้ำอุ่นให้อาบ และมีเทียนเผื่อไว้ถ้าไฟดับ

ภาพนี้คิดแคปชั่นไม่ออกเท่าไร แต่เห็นว่าคอมโพสภาพสวยดี ดูแล้วนึกถึงยามที่นอนที่นี่ เป็นเตียงที่นอนแล้วไม่อยากตื่นเลย บรรยากาศมันนุ่มนวลชวนฝัน คลุกเคล้ากับอากาศเย็นๆ ของเดือนมกราคม ลงตัวยิ่งนัก

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องรีบตื่น เพราะไฮไลท์อีกอย่างของการเลือกพักที่โรงแรมแห่งนี้ …

คือวิวพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้

จึงตื่นมาตั้งกล้องตั้งแต่หกโมงเช้า ฟ้ายังไม่ทันสว่างดี สังเกตหลายห้องก็ปฏิบัติภารกิจเดียวกัน

เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นพ้นขอบฟ้า … ก็ได้เวลา แยกย้ายกันไปนอนต่อ 555

กำลังจะลงจากเขานาการ์ก็อต เพื่อไปเดินเล่น ถ่ายรูปในเมืองหุบเขากาฐมัณฑุ ไปเดินให้กำลังใจชาวเนปาลีทุกท่าน เพื่อร่วมกันฟื้นฟูศาสนสถาน ให้คืนกลับมาโดยเร็ววัน

Patan Durbar Square ปาตัน เดอร์บาร์ สแควร์ เป็นเมืองคู่แฝดของกรุงกาฐมาณฑุ อยู่ห่างกันเพียงแม่น้ำกั้นเหมือนกรุงเทพฯ ฝั่งธนฯ ยังไงยังงั้นได้รับการขนานนามว่าเมืองแห่งความงาม (City of Beauty) เป็นเมืองที่รู้จักกันในนามของเมืองแห่งศิลปะอีกด้วย

ถนนโบราณไปสู่ปาตันเดอบาร์สแควร์ ผ่านบ้านเรือนที่เขายังอนุรักษ์ไว้ เป็นเมืองโบราณที่ยังมีชีวิตชีวา มีผู้คนทำการค้า มีนักบวชทำพิธีกรรม วิถีชีวิตไม่เปลี่ยนไปจากเมื่อพันปีก่อนมากนัก

ผู้คนนั่งอยู่หน้าเทวาลัยหรือวิหาร เป็นภาพที่พบเห็นได้จนชินตาในทุกหนทุกแห่งทุกเมืองที่เป็นเมืองโบราณในเนปาล ผู้คนของเขาใกล้ชิดกับศาสนาจริงๆ ผู้คนจะชอบมานั่งเล่นในที่แบบนี้ มากกว่าไปเดินห้าง เดินเล่นช้อปปิ้งซื้อของ (เพราะมันไม่ค่อยมีห้าง)

ปาตัน (Patan) เป็นคำเดียวกับปัตนะ
ซึ่งแปลว่าเมืองเช่นเดียวกัน  เมืองปาตันมีอีกชื่อว่าลลิตปูร์ (Lalitpur) หรือลลิตปุระ มาจากคำว่า ลลิตา สมาสกับปุระ ซึ่งแปลว่าเมือง รวมแล้วจึงแปลว่านครอันงดงาม  เป็นเมืองเก่าแก่  
ตำนานกล่าวว่าพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นผู้สร้างเมืองนี้ขึ้นมาเพื่อประดิษฐานพุทธศาสนาในหุบเขากาฏมัณฑุ  ตัวเมืองปาตันเดิมเป็นรูปกงล้อธรรมจักร มีสถูปอยู่ ที่ 4 มุมเมือง  ศูนย์กลางของปาตันอยู่จัตุรัสเดอร์บาร์ซึ่งอัดแน่นไปด้วยโบราณสถาน เทวาลัย วัด และพระราชวัง

ปาตันประกอบด้วย วัด 55 แห่งบะฮาลหรือวังเวียง 130 แห่ง โฉก (ลานชุมนุมสาธารณะ) นับสิบแห่ง แต่ที่เป็นโฉกหลักมี 3 แห่ง โฉกเหล่านึ้เป็นสถานที่ใช้ประกอบพิธีในเทศกาลสำคัญ ผู้คนมาชุมนุมเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์

สระน้ำภายในคอร์ทหรือลานกว้างของพระราชวัง  เป็นสระน้ำลักษณะเดียวกับสระน้ำที่ของประชาชนตามที่สาธารณะ
แต่เมื่อมาอยู่ในพระมหาราชวัง จึงเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สรงน้ำ หรือใช้ในการประกอบราชพิธีต่างๆ งานสถาปัตยกรรมจะอลังการกว่าสระน้ำของผู้คนทั่วไปมาก

หุบเขากาฐมัณฑุ ยังเป็นศูนย์รวมประวัติศาสตร์ ศิลปวัตถุ โบราณสถาน สถาปัตยกรรม โบสถ์ เทวสถาน เจดีย์พระราชวัง จตุรัสและตลาด สถานที่เหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องยืนยัน ถึงความมีอารยธรรม และสืบสานวัฒนธรรม ที่รุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน  

ชีวิตผู้คนที่นี่จึงผูกพันกับศาสนสถาน เทวสถานผูกพันกับเทพเจ้า … การเซ่นสรวงทุกวันด้วยดอกไม้ ผงสี เมล็ดข้าว และน้ำบริสุทธิ์ มาลัย และเครื่องบูชา … ส่วนหนึ่งของพิธีกรรมในยามเช้าที่ชาวเนปาลีใช้ในการสักการะเทพเจ้าของพวกเขา

พระราชวังแห่งปาตันนั้น ปัจจุบันไม่มีกษัตริย์อยู่ จึงได้พัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ และได้รับการยกย่องว่า เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ดีที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง  พอผมเข้าไปดูแล้วก็มีของโบราณที่น่าดูสมคำร่ำลือจริง ๆ ครับ ตามไปดูกัน ความงดงามและวิจิตรบรรจงของลวดลายแกะสลักไม้

มีการจัดแสดงนิทรรศการ เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก
นอกจากนั้น ยังแสดงประวัติและความเสียหายทางโบราณสถาน ตลอดจนแผนการฟื้นฟูให้ได้ทราบ

ในพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงนิทรรศการและโบราณวัตถุ ที่เกี่ยวพันกับราชวงศ์ ศิลปะ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถีถึง 24 ปี และระยะทางจากสาวัตถีมาเนปาลไม่ไกลมาก คงจะได้เสด็จมาเยือน และถึงแม้ไม่เสด็จมา แต่สาวกของพระองค์ ก็คงได้เดินทางมาที่เนปาลแน่นอน 

ที่เนปาลโดยเฉพาะหุบเขากาฎมัณฑุจึงเป็นที่ๆ ศาสนาพุทธรุ่งเรืองมากในโบราณกาลคู่ขนานไปกับฮินดู

นับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่สวยงาม เป็นระเบียบ สื่อสารอย่างเข้าใจง่าย มีการให้ความรู้ในหลายมิติ เช่น ความเสื่อมของศาสนาพุทธในอินเดีย-เนปาล และการกำเนิดของมหายาน ความเชื่อของศาสนาฮินดู สถาบันกษัติริย์กับสังคมเนปาลี ฯลฯ

ปาตันเป็นเมืองที่มีขนาดไม่ใหญ่ ทำให้ใช้เวลาเดินเที่ยวเสร็ตเพียงแค่ 3 ชั่วโมงก็ชมความงามทั้งเมืองได้แล้ว

ไม่ไกลจากปาตันเดอบาร์สแควร์เท่าไร เป็นวัดทอง (Golden Temple) วัดพุทธสุดสวยแห่งเมืองปาตั

วัดทอง หรือ Hiranya Varna Mahavihar วัดนี้เป็นวัดพุทธ หลังคาเจดีย์ทำด้วยแผ่นทองเป็นเส้นยาวลงมาจรดพื้น ตามความเชื่อ เชื่อว่าเป็นเส้นทางไปสู่สวรรค์ 

“วัดทอง” เป็นพุทธศิลป์แบบเนปาล มีชื่อเนปาลว่า “ควาบาฮาล (Kwa Bahal)” สร้างโดยกษัตริย์พระองค์หนึ่งราวพุทธศตวรรษที 17 ซึ่งชาวเนปาลถือกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง

วัดนี้สร้างถวายพระโพธืสัตว์อวโลกิเตศวร ตั้งแต่เมื่อราว 700 ปีก่อน และเข้าใจว่าเป็นวัดพุทธแห่งเดียวที่เหลืออยู่ในหมู่เทวาลัยของฮินดู ด้านข้างของทางเดินมีรูปบูชาของเหล่าเทพที่ชาวบ้านเคารพนับถือ และบวงสรวงด้วยผงสีแดง

วัดทอง เต็มไปด้วยความตระการตาของเทวรูปและตัวอาคาร ซึ่งเมื่อต้องแสงจะฉายประกายออกมาอย่างสวยงาม  รอบๆ เทวาลัย … มีรูปพระพุทธรูป ปนๆ กันไปกับเทพปางต่างๆ ที่ชาวบ้านนับถือ อันเป็นการผสมผสานความเชื่อและความศรัทธาของทั้งสองศาสนาว่าสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนในแผ่นดินแห่งนี้

ตะเกียงน้ำมันเนย ซึ่งผู้คนที่นี่นิยมจุดเพื่อเป็นการบูชาพระ ตามความเชื่อของพุทธศาสนานิกายวัชรยานที่มีความเชื่อว่า การจุดตะเกียงน้ำมันเนยเป็นการจุดประกายปัญญาด้วยเพราะแสงสว่างที่จุดจากตะเกียง เปรียบเสมือนดวงไฟแห่งปัญญาที่ส่องสว่าง ทำให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจน เป็นการขับไล่ความไม่รู้ออกไป

เทพเทวา ที่วางไว้บนพื้น มีลักษณะเป็นหลุมขุดลงไปเวลาเดินต้องระวังเผลอไปเหยียบ เพราะเท่ากับเป็นการลบหลู่ดูหมิ่น และจะเห็นคนท้องถิ่นแสดงการเคารพอยู่เสมอ

เดินเที่ยวจัตุรัสกาฐมาณฑุ เดอร์บาร์  (Kathmandu Durbar Square)
เดอร์บาร์แปลว่าพระราชวัง Kathmandu Dubar Square.. เป็นเขตเมืองเก่า และพระราชฐานของกษัตริย์ที่มีความสำคัญ ขนาดที่เป็นจุดหมายต้นๆ ที่นักท่องเที่ยวต้องแวะมาเยี่ยมชมเป็นลำดับแรกๆ
จัตุรัสกาฐมาณฑุ เดอร์บาร์ แห่งนี้ประกอบไปด้วย วัดและปราสาทที่เก่าแก่ ซึ่งแสดงภาพความเจริญรุ่งเรืองทางด้านศาสนา และวัฒนธรรมของชาวเนปาล เนื่องจากเป็นสถานที่ราชาภิเษกขึ้นครองราชย์ จัตุรัสแห่งนี้ยังได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกในปีพ.ศ. 2522 อีกด้วย
เดอร์บาร์สแควร์จึงเรียกได้ว่า จัตุรัสพระราชวัง เป็น 1 ใน 7 ของสถานที่ที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก้ที่รวมเป็นหนึ่งเดียวในนามว่า “หุบเขากาฏมัณฑุ” (Kathmandu Valley)

บริเวณ เดอร์บาร์ จะประกอบไปด้วย Hanuman Dhoka, Degutale Temple, Taleju Mandir, Nasal Chowk, Nine storey Basantapur Tower, Panch Mukhi Hanuman Temple, Mul Chowk, Mohan Chowk, Sundari Chowk, Tribhuvan Museum, King Mahendra Memorial Museum และ Kal Bhairab temple

เรียกรวมๆ กันว่า “World Heritage Site” แห่งกาฐมัณฑุ นั่นเอง

กาฏมาณฑป เป็นโบราณสถานที่สำคัญ ด้วยเป็นอาคารไม้เก่าแก่ที่สุด และเป็นต้นกำเนิดของชื่อเมืองกาฏมัณฑุ ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับวัดกุมารี กล่าวกันว่าสถานที่แห่งนี้สร้างโดยกษัตริย์ลักษมี นาสิงห์ มัลละ (King Laxmi Narsingha Malla) กษัตริย์ราชวงศ์มัลละ ในตอนต้นศตวรรษที่ 16 จากต้นสาละ (Sal : Shorea Robusta) เพียงต้นเดียว บนจุดบรรจบของถนนสองสาย ด้วยวัตถุประสงค์ให้เป็นศูนย์กลางของชุมชนและธุรกิจการค้าจากอินเดียผ่านสู่ทิเบตและจีน จึงถือได้ว่าเป็นจุดหยั่งรากของความเจริญของเมืองโบราณแห่งนี้

กาฏมณฑป มาจากคำว่า “กาษฐะ” และ “มณฑป” มีความหมายว่า เรือนไม้ทรงสี่เหลี่ยม เป็นศาลาหลังแรกที่สร้าง   ขึ้นก่อนอาคารใดๆ ในบริเวณนี้ จากนั้นจึงมีการสร้างพระราชวังและเทวาลัยต่างๆ ตามมา ซื่อ “กาฏมณฑป” ต่อมาได้กลายเป็นชื่อเมือง

กาฏมณฑปถูกดัดแปลงเพื่อการใช้งาน เริ่มจากการเป็นตลาดชุมชนเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้า ต่อมากลายเป็นวัด มีการยกอุทิศให้เป็นเทวาลัยของพะโครักนารถ ปัจจุบันใช้ในหลายวัตถุประสงค์ ทั้งเป็นเทวาลัยที่มีคนมากราบไหว้บูชาพระคเนศ รวมถึงเป็นลานที่ชาวบ้านใช้แลกเปลี่ยนซื้อขาบสินค้า และเป็นที่พักหลบแดดของผู้ใช้แรงงาน

เทวสถานในจัตุรัสกาฐมัณฑุ เดอร์บาร์ … ส่วนใหญ่ตัวอาคารสร้างไม้แกะสลักอ่อนช้อย หรือไม่ก็ก่อด้วยอิฐแดงเปลือย
ขอบประตูเตี้ยและต่ำพอก้มหัวลอดไปได้เท่านั้นเอง มีหน้าต่างบานเล็กๆ พอโผล่หน้าออกมาดูภายนอกได้

สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในลัทธิฮินดูล้วนได้รับการแกะสลักและฉลุลายไว้อย่างหลากหลายและงดงามวิจิตรอลังการ … ด้านหน้าและด้านในของเทวสถานตลอดจนราวบันไดที่ขึ้นสู่ชั้นสูงจะเห็นมีรูปปั้นหรือไม้แกะสลักรูปของเทพเจ้าที่ชาวเมืองเคารพนับถือ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปางต่างๆ ของพระพรหม พระนารายณ์ พระศิวะ หรือเรียกรวมๆกันก็คือ “พระตรีมูรติ” นั่นเอง

จัตุรัสเดอร์บาร์ในกาฐมัณฑุ มีชื่อเรียกอีกชื่อว่าจัตุรัสหนุมานโธกา (Hanuman Dhoka Durbar Square) ซึ่งได้ชื่อมาจากรูปปั้นของหนุมานที่หน้าทางเข้าพระราชวัง ด้วย รูปปั้นนี้ทาด้วยชาดสีแดง ผู้ที่เคารพบูชาจะเจิมด้วยแป้งสีแดงหนา คลุมไว้ด้วยผ้าสีแดง เลยไม่เห็นว่าหน้าตาของหนุมานเหมือนกับที่เราเห็นบนภาพจิตรกรรมฝาผนังในเรื่องรามเกียรติ์หรือไม่ สีแดงบนเครื่องแต่งกายของหนุมาน หมายถึงชัยชนะ รูปปั้นของหนุมานตั้งอยู่บนแท่นสูงตรงประตูพระราชวังเก่า ทำหน้าที่เป็นนายทวารคอยรักษาประตูทางเข้าของพระราชวัง มีประชาชนแวะเวียนมาสักการะอยู่เสมอ จึงเปรียบเสมือนเทพองค์หนึ่

พระราชวังของกษัตริย์เนปาล …  เป็นพระราชวังที่สร้างและทำขึ้นจากไม้แกะสลักทั้งหลัง นับเป็นเป็นสิ่งก่อสร้างชิ้นเอกกลางเมือง ที่ผสานแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมคลาสสิกสไตล์ยุโรป กับศิลปะพื้นเมืองไว้ด้วยกันอย่างลงตัว .. แม้จะดูแปลกตาไปบ้างสำหรับนครโบราณแห่งนี้

พระราชวังหนุมานโธกา (Hanuman Dhoka Palace) เป็นสถานที่ที่ใช้เพื่อประกอบพิธีกรรมสำคัญของพระมหากษัตริย์และชนชั้นราชวงศ์ รวมทั้งเป็นสถานที่เสด็จออกชมการสวนสนามของเหล่าทหาร

แม้จะเป็นสถานที่สำคัญ วิถีชีวิตของชาวเนปาลก็ยังดำเนินไปด้วยความเรียบง่าย แต่ว่าแปลกตาสำหรับชาวต่างชาติ เช่นภาพพ่อค้าแม่ค้าขายของอยู่บนสถูปที่เรียงราย วางผักผลไม้ที่ขายไว้บนเหลี่ยมมุม บางจุดก็ปล่อยวัวให้นั่งนอนเล่น ทั้งที่เป็นจตุรัสกลางเมือง บริเวณนี้ยังมีฝูงนกพิราบลงมากินอาหารเป็นภาพแห่งชีวิตที่ได้ดำเนินมานาน

ที่จัตุรัสเดอร์บาร์ ยังแทรกไปด้วยบ้านเรือนเก่าแก่ที่กลายมาเป็นร้านขายของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว ที่นี่มีทั้งอาคารทรงโบราณแบบเนปาล สลับกับอาคารสมัยใหม่ทรงยุโรปซึ่งสร้างในยุคหลังแต่ผู้คนที่นี่ยังมีวืถีชีวิตเช่นที่เคยเป็นมา

สามล้อเมืองกาฏมัณฑุ เป็นพาหนะที่ผู้คนยังใช้สอยในชีวิตประจำวัน … แบบที่เห็นในภาพเป็นสามล้อที่ชาวเมืองใช้
หากเป็นสามล้อที่พานักท่องเที่ยวกินลม ดมฝุ่น จะตกแต่งอลังการมากกว่าที่เห็น

สังเกตุสภาพบ้านเรือนในกาฐมัณฑุ ผู้คนอาศัยอยู่กันอย่างเรียบง่ายไม่มีความหรูหราอะไรเลย แต่ก็เห็นมีความสุขดีนะบ้านเรือนร้านค้าบางหลังก็จะยังคงความเก่าและคลาสสิคไว้ ประตูหน้าต่างแกะสลักสวยงาม น่าดูน่าชมมากครับ

สภาพบ้านเมือง วิถีชีวิตทั่วไปในกาฐมัณฑุ ชาวบ้านก็มักจะประกอบอาชีพค้าขาย ทั้งของสดและของแห้ง วางกับพื้น ดีหน่อยก็วางกับแคร่แบบที่เห็นนี่เป็นส่วนใหญ่ภายใต้สภาพอากาศที่ขะมุกขมัวเหลือเกิน

ดีขึ้นอีกหน่อยก็วางขายในร้านส่วนมากไม่ค่อยน่าซื้อทานสักเท่าไร อาจจะต้องระมัดระวังเรื่องท้องไส้ด้วยครับ

ภาพมันฟ้อง : ภาพนี้คลับคล้ายคลับคลาว่าอยู่เมืองไทย
“ห้ามจอดรถทุกชนิด”

คนเนปาลมีสองกลุ่ม คือกลุ่มอินโดอารยัน คือพวกแขกอินเดีย กับอีกกลุ่มเป็นทิเบต-พม่า ซึ่งประกอบด้วยคนพื้นถิ่นเช่นชาวเนวารี และเผ่าพื้นเมืองอื่นๆ รวมไปถึงคนจีน คนทิเบต และคนมองโกเลีย ผู้คนที่เนปาลจึงเกิดเผ่าพันธุ์ผสมจากหลากหลายชาติพันธุ์

16.00 น. ได้เวลาเข้าเฝ้า “กุมารี” องค์เทพธิดาที่มีชีวิตบนโลกมนุษย์​ (Living Goddess) ที่เรียกขานกันว่า “กุมารี” (Kumari) ก็เป็นจุดขายที่น่าสนใจให้นักท่องเที่ยวไปสัมผัสพบปะให้เห็นเป็นขวัญตา เป็นกำไรชีวิต

กุมารี คือเด็กผู้หญิงตัวเล็กที่เชื่อกันว่า เป็นอวตารของเทพธิดาพรหมจรรย์ ได้รับการสักการะบูชาจากกษัตริย์แห่งเนปาล ซึ่งจะมีการคัดเลือกเด็กผู้หญิงที่เกิดในตระกูลชาวเนวารี ตระกูลช่างเงิน ช่างทอง ศากยะวงศ์ ที่เชื่อว่าเป็นเทวีตะเลชุ มาจุติเกิด เป็นเด็กที่มีผิวเนียนสวยปราศจากจุดด่างหรือตำหนิต่างๆ ตามร่างกาย มีคุณลักษณะถูกต้อง คือเป็นผู้มีรูปร่างเหมือนต้นกล้วย ขาเหมือนขากวาง หน้าอกเหมือนสิงห์ ลำคอเหมือนหอยสังข์ นํ้าเสียงสดใสและอ่อนนุ่ม อวัยวะครบ 32 ประการ ผ่านการทดสอบทางจิตวิทยาเด็ก ตลอดจนการเสี่ยงทาย ตามความเชื่อของฮินดู และการตรวจดวงชะตาว่าเข้ากันกับกษัตริย์องค์ปัจจุบันได้หรือไม่ กุมารีที่ได้รับเลือกจะต้องจากครอบครัวของเธอมาอาศัยอยู่กับครอบครัวของผู้ดูแล ซึ่งจะถูกอัญเชิญให้ไปพักนักที่บาฮาล 

วังของกุมารี ก่อสร้างด้วยอิฐ เป็นอาคารสูง 3 ชั้น มีหน้าต่างไม้เจาะรอบๆ สร้างขึ้นตามรูปแบบของวัด ไม้ที่แกะสลักโดยรอบนั้นจะเป็นเรื่องราวของฮินดูปกรฌัม ที่มีอายุกว่า 250 ปี ตามปกติ “กุมารี” จะต้องเดินบนผ้าชนิดพิเศษ ที่ปูเป็นทางในวัง เนื่องจากมีข้อห้ามไม่ให้เท้าของกุมารีสัมผัสพื้นดิน

กุมารีจะไม่ได้รับอนุญาติให้ออกไปที่ใด เพราะมีข้อห้ามมิให้เท้าของกุมารีแตะพื้นดิน และกุมารีจะหมดหน้าที่เมื่อมีเลือดไหลออกจากร่างกาย ดังนั้นจึงต้องระวังไม่ให้กุมารีเกิดอุบัติเหตุ แต่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้นจนทำให้เทวีตะเลชุออกจากร่างกุมารี ก็คือการมีประจำเดือน

เนื่องด้วยห้ามมิให้ถ่ายรูปกุมารี ขอเอารูปคุณป้าชาวเนปาลีท่านนี้ มาให้ดูแทนละกันครับ ชุดนี้สีเจิดมากๆ

ตามท้องถนนในกาฐมัณฑุช่วงนี้ ฝุ่นฟุ้งเหลือเกินรถราก็เยอะ คนก็เยอะ รถยนต์ และมอเตอร์ไซต์ ที่เนปาลมีราคาแพงมาก คือแพงกว่าเมืองไทยเกือบเท่าตัว ทั้งนี้เนื่องมาจากภาษีที่สูงมาก  แต่ชาวเนปาลก็นิยมที่จะซื้อรถด้วยการใช้เงินสด ไม่นิยมการผ่อน และไม่นิยมทำประกันภัย  ในแต่ละวันจำนวนอุบัติเหตุมีไม่มากนัก เพราะเขาขับรถกันไม่เร็วและคงด้วยเสียงแตรที่กดออกไป

ถัดจากวังกุมารีเป็นลานขนาดใหญ่ที่มีพ่อค้าแม่ขายนำสินค้ามาวางขายอย่างเอิกเกริก สินค้ายอดฮิตของเนปาลที่นิยมซื้อกลับ มีทั้งผ้า พรม เครื่องเงิน หินภูเขา เครื่องลางเหล่านี้ดูเหมือนมีราคาแพง นำเอามาวางขายแบกะดิน ที่นี่เราสามารถต่อราคาได้พอประมาณ

นอกจากจะเป็นลานขายสินค้านานาชนิดแล้ว ยังเป็นลานวัฒนธรรมด้วยแหะ มีดนตรีเปิดหมวกมาแสดงให้ชมเพลินๆ ด้วยครับ นั่งฟังอยู่นาน เพราะดีเหมือนกัน ให้ไป 100 รูปีเนปาล

เดินเที่ยวจนถึงเย็นก็เป็นเวลาช้อปปิ้ง ที่ย่านทาเมล (Thamel) ถนนย่านนี้ไม่ได้ใหญ่มาก รถสามารถสวนกันได้ถนนหนทางอาจจะไม่อำนวย แต่ยอมใจคนขับรถจริงๆ ทั้งรถบรรทุก รถเก๋ง มอเตอร์ไซค์ บีบแตรกันดังสนั่นลั่นตลาด ไหนจะคนเดินเท้า วุ่นวายเป็นที่สุด
ทาเมลเป็นที่พักยอดนิยมของนักท่องเที่ยว และเป็นแหล่งซื้อของฝาก ไม่ว่าจะเป็นผ้าพันคอ Kashmir เสื้อผ้าสไตล์เนปาลี ผับ บาร์ ร้านอาหารพื้นเมือง ยุโรป อเมริกัน เกาหลี ร้านขายทัวร์ ร้านแลกเงิน ฯลฯ
อานิสงค์จากยอดเขาเอเวอร์เรส ที่ท้าทายนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัสความสูงที่สุดในโลกจึงมีนักปีนเขามากมาย ทั้งมือใหม่ มืออาชีพ มาปีนเขาที่เนปาล และส่งผลให้ธุรกิจจำหน่ายเสื้อผ้า อุปกรณ์การปีนเขาคึกคักและมีราคาถูกมาก เจอเสื้อกันหนาว The North Face ที่เคยซื้อที่เมืองไทยราคา 12,000 บาท ที่นี่ขายและลดราคาให้แล้ว เหลือ 4 พันกว่าบาทเท่านั้น

ใครที่ชอบช็อปปิ้งควรมาเนปาล เพราะของช้อปแปลกๆ เยอะดี ถ้าใครเป็นมือวางอันดับหนึ่งด้านต่อราคา ก็ควรมาที่นี่เช่นกัน การต่อราคาควรต่อให้มากๆ ไว้ก่อนแต่อย่าให้น่าเกลียดเกินไป ถ้าต่อแล้วเค้าให้ก็อย่าลืมซื้อก็แล้วกัน

ร้านรวงที่ทาเมลเปิดกันคึกคัก ตั้งแต่ช่วงเย็นคนจะเริ่มเยอะไปจนถึงค่ำรถราก็ติดตามอัตภาพ ร้านขายของในทาเมลจะปิดประมาณ 3 ทุ่ม ส่วนมินิมารท์จะปิดดึกกว่า เช่นเดียวกับผับบาร์ ก็พอมีให้เห็นบ้าง

เวลาเดินเที่ยว เราอาจรำคาญพวกตามตื้อขายของ วิธีการแก้ปัญหาคือ ต้องไม่ให้ความสนใจแต่แรกๆ ควรปฎิเสธไปแต่เนิ่นๆ ถ้าเราทำตัวสนใจแต่แรก คนพวกนี้ก็จะตามตื้อจนทำให้อาจรำคาญและไม่มีสมาธิชมความสวยงามของเมือง พวกตื้อขายของส่วนมากไม่ใช่คนพื้นเมือง

มาเมืองแขกต้องกินโรตีแต่คราวนี้ขอบาย เพราะต้องระวังเรื่องท้องไส้เป็นพิเศษ

เช้าวันต่อมาเราเดินทางไปที่ มหาเจดีย์โพธินาถ เป็นสถูปที่ตั้งอยู่ห่างจากกรุงกาฐมัณฑุไปทางทิศตะวันออกประมาณ 8 กิโลเมตร เป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในเนปาล บนเจดีย์มีดวงตาเห็นธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งสี่ทิศ  องค์การยูเนสโกขึ้นได้ทะเบียนสถานที่แห่งนี้เป็นมรดกโลกในปี พ.ศ. 2522

มีฐานทรงดอกบัวตูม มีเค้าศิลปะค่อนไปในทางทิเบต เห็นได้ชัดจากรูปแบบการก่อสร้างฐานสถูป ที่อิงคติปริศนาธรรมมัณฑลา (Mandala) อันเป็นรูปธรรมนิมิตตามคติพุทธศาสนาแบบทิเบต ในความหมาย เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสุตว์ต่างๆ ในขณะรู้แจ้ง เจดีย์ทรงโอคว่ำ สร้างตามคติความเชื่อที่ว่า เป็นการจำลองสวรรค์ชั้นอธูปธาตุที่สถิตของ “พระธยานิพุทธ” ทั้งห้า โดยมีดวงตาของ “พระไวโรจน” ประดิษฐานที่องค์บัลลังก์ของเจดีย์เป็นทิศเบื้องบน

ที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวมศรัทธาของชาวพุทธ โดยเฉพาะนิกายตันตระวัชรยาน โดยการเคารพบูชาจะเป็นการกราบ 8 จุดหรือที่เรียกว่าอัษฏางคประดิษฐ์ คือให้ร่างกายทั้ง 8 ส่วนได้สัมผัสพื้น มือทั้งสอง หัวเข้าทั้งสอง เท้าทั้งสอง หน้าผากและลำตัวจรดพื้นดิน เพื่อเป็นการทำสมาธิ … เมื่อร่างกายทุกส่วนสัมผัสพื้นดิน เราจะได้สลายบาปกรรมไปด้วยกัน

ชาวทิเบตเชื่อว่า ยิ่งกราบเยอะ อกุศลกรรมต่างๆที่ได้เคยทำก็จะหมดไป และช่วยให้จิตใจมีสมาธิ … ระหว่างที่ปฏิบัติจะช่วยให้ได้อยู่กับปัจจุบัน ช่วยให้เราทำใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ รู้จักปล่อยวางจากอนาคตและอดีต อยู่กับปัจจุบัน

ผู้คนที่นี่เยอะมาก มีทั้งนักท่องเที่ยว นักบวช ลามะ คนท้องถิ่น พ่อค้าแม่ค้า  ถือว่าเป็นสถานที่ที่มีคุณค่าทางด้านจิตใจมากมาย และเคยเป็นสถานที่ที่ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์เรือง Little Buddha อีกด้วย

เสียงสวดมนต์แบบทิเบตที่แว่วมาจากทุกทิศรอบๆบริเวณ เพิ่มบรรยากาศให้ขลึมขลังมากขึ้น … ฟังดูเยือกเย็น สร้างความสงบให้เกิดขึ้นในใจ หลายคนเลยนิยมซื้อหาซีดีบทสวดมนต์เหล่านี้มาด้วย
มหาเจดีย์ล้อมรอบด้วยร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร ร้านแลกเปลี่ยนเงินตรา ที่ยังคงมีบรรยากาศของการเป็นลิตเติ้ลทิเบตอยู่อย่างอบอวล

รอบๆองค์เจดีย์ประดับประดาด้วย “ธงมนตรา” ที่ชาวทิเบตและชาวเนปาลนิยมนำมาแขวนเอาไว้อย่างสง่างามเป็นเอกลักษณ์ …  ธงนี้จารึกบทสวดมนตร์แล้วนำไปปลุกเสก ก่อนจะนำมาประดับที่องค์พระเจดีย์ หรือประดับตามหลังคาอาคารบ้านเรือน ทางเดิน ช่องเขา ฯลฯ นัยว่าเพื่อให้ลมช่วยสวดมนตร์ แล้วพัดพาเอามนตราไปคุ้มครองผู้ผ่านทาง
โดยในระหว่างที่นำขึ้นไปประดับ ผู้บริจาคมักจะนำ “ผ้าฮาต๋า” หรือผ้ามงคลประจำตัวสีขาวมาผูกติดกับราวธง เพื่อให้บุญกุศลจากการบริจาคครั้งนี้ นำพาชีวิตสู่ความเจริญรุ่งเรือง หากตายไปก็ให้ได้ขึ้นสู่แดนนิพพาน … อีกทั้งจะได้ชื่อว่า เป็นผู้มีส่วนเผยแพร่และดำรงพระศาสนาให้คงอยู่ เพราะธงที่โดนลมพัดมาจากหิมาลัยผ่านรอยจารึกพระไตรปิฎกและพระสูตรที่อยู่บนธงให้ปลิวไปสู่แดนไกลได้ ราวธงมนตราที่ประดับโดยรอบองค์เจดีย์ จึงเป็นทั้งเสน่ห์และสีสัน ที่มีความหมายทางวัฒนธรรมของชาวพุทธมหายาน นิกายวัชระยาน แฝงเอาไว้ด้วย

บริเวณรอบวัดเป็นแหล่งชุมชนของชาวพุทธมหายานจากทิเบตที่อพยพเข้ามาเมื่อปี พ.ศ. 2502 จึงจะเห็นพระทิเบต และคนทั่วไปยืนแกว่งล้อมนต์พร้อมกับสวดมนต์อยู่ทั่วไปช่วงนี้ปีใหม่ จึงมีการรวมตัวกันของลามะทิเบตสวดมนต์หน้าองค์สถูปเป็นจำนวนมาก

จุดตั้งของเจดีย์โพธินาถสร้างขึ้นในเขตชุมชนชาวทิเบต ที่ตรงนี้เมื่อครั้งที่มีการอพยพของชาวทิเบตมายังเนปาล เป็นทางผ่านเข้าสู่กาฏมัณฑุ ที่อยู่ห่างออกไปราว 10 กิโลเมตร บรรยากาศโดยรอบเจดีย์ จึงดูราวกับอยู่ในทิเบตมากกว่าที่ใดๆ ในเนปาล

ที่หน้าสถูปโพธินาถ ทุกเช้าจะมีพระทิเบต(ลามะ) และชาวเนปาลมาเดินสวดมนต์วนรอบตัวสถูป การเดินรอบๆ วัดหรือสถูปนั้นต้องเดินเวียนตามเข็มนาฬิกานับ เป็นบรรยากาศที่มีมนต์ขลังและเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ชาวทิเบตและชาวไทยเป็นพุทธศาสนิกชนเหมือนกัน ต่างกันเพียงแค่วิถีปฏิบัติเท่านั้น … คนทิเบตนับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน ส่วนคนไทยนับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาท แต่ก็ยังคงเน้นเรื่องไตรลักษณ์ การปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญาเพียงแต่คนทิเบตจะเน้นว่า การปฏิบัติธรรมต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลาย ตัวเองจะเป็นรอง … ส่วนฝ่ายเถรวาทจะเน้นให้แต่ละคนปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงการหลุดพ้น เน้นความสุขของผู้ตั้งจิตแผ่เมตตา


การเริ่มต้นปฏิบัติของชาวทิเบตจึงง่ายๆ คือให้ตั้งจิตแผ่เมตตา แผ่ความรักความกรุณาให้ผู้อื่น ซึ่งเชื่อกันว่าจะจะช่วยให้สิ่งมีชีวิตในโลกได้อานิสงส์แห่งผลบุญ และช่วยให้ผู้ปฏิบัติมีจิตใจที่เป็นสุขไปพร้อมกันด้วย เพราะคนส่วนใหญ่ที่เป็นทุกข์ในชีวิต มักจะคิดวนเวียนอยู่กับปัญหาของตนเอง การส่งภาวนาจิตให้กับสัตว์อื่นจึงช่วยให้เราได้รับรู้ความทุกข์ของผู้อื่น รู้จักละจากปัญหาของตนเอง ท้ายที่สุดจึงทำให้จิตใจเป็นสุข

ในความเป็นศาสนาจึงมีรากเหง้าแห่งความงามอยู่ เพียงเราเดินตามให้ถูกวิธี ซึ่งอาจจะไม่ใช่เดินตามทุกกระเบียดนิ้ว
เป็นการนำเอามาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับวิถีชีวิตที่มี ก็อาจจะได้ประโยชน์มากมายอย่างคิดไม่ถึง

ระหว่างที่เดินเล่นถ่ายรูป ก็สังเกตสังกา ผู้คนไปด้วย แม่ค้าคนนี้อัธยาศัยดี ขายของไม่ค่อยเรื่องมาก ลดทีสะใจ แบบไม่กลัวเจ๊ง

แม่ค้า ตั้งแผงขายเรียงราย 2 ฝั่งบริเวณโดยรอบเจดีย์ นับเป็นการผสมผสานระหว่างศาสนา กับวิถีชีวิตได้เป็นอย่างดี

คนนี้น่าจะเป็นเน็ตไอดอล ชาวเนปาลี สังเกตได้จากการสวมหูฟัง … ที่ล้ำอนาคตเนปาลมากๆ .. แต่ไม่ได้ทัดหูหรอกนะ

ส่วนคนนี้ เป็นเนปาลีที่หน้าตาดีที่สุดละ เท่าที่เคยเจอมาตลอดระยะเวลา 4 วัน

ก่อนกลับนั่งรถผ่านห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ จึงขอถือโอกาสเดินลงไปสำรวจสักหน่อย มีทั้งหมด 3 ชั้น ประกอบด้วย ซุปเปอร์มาร์เก็ต แผนกบิวตี้ แผนกเครื่องครัวของใช้ในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ แผนกเด็ก

เข้าซุปเปอร์ น่าดีใจที่เจอสินค้าไทยมาวางขายที่นี่เยอะพอสมควร  ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มาจากอินเดีย เลยไม่ค่อยได้อะไรติดไม้ติดมือมา

ได้เวลาอำลาเนปาล สายลมยังคงพัดโบกโบยให้ทิวธงมนต์ 5 สี สะบัดพัดปลิวไสว ที่ธงมนต์มีบทสวดมนต์จารึกไว้เชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ โดยธงมนต์นี้จะอำนวยพรเมื่อสายลมเดินทางมาปะทะแล้วปลิวว่อนไปให้ผู้คนได้รับพรอันประเสริฐได้รับการคุ้มครองจากศาสนา

เรื่องเหล่านี้แม้จะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่หลายคนมีความรู้สึกนึกคิดรูปแบบหนึ่งที่เราเรียกว่า
“ศรัทธา”

ในฐานะผู้มาเยือนขอร่วมเป็นหนึ่งในศรัทธานี้

มนุษย์เรานั้นล้วนมีความแตกต่างกันออกไปตามถิ่นที่อยู่อาศัย แต่ละบริเวณก็มีวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตเป็นของตน
ด้วยเพราะความแตกต่างนี้กระมังที่ทำให้มนุษย์เราถวิลหาการเดินทาง เพื่อประสบการณ์เรียนรู้ความเป็นมาเป็นไปของเพื่อนร่วมโลกใบนี้
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตประหลาดที่มีความสามารถสร้างได้ทุกสิ่งทุกอย่าง  แต่ในทางตรงกันข้ามก็สามารถทำลายล้างได้ทุกสิ่งทุกอย่างเช่นเดียวกัน อีกทั้งมนุษย์มีความหลากหลายทั้งภายในและภายนอก มนุษย์ชอบที่จะอาศัยอยู่รวมกันเพื่อความแข็งแกร่งและอยู่รอดอย่างเป็นสุขใจ โดยมนุษย์แต่ละหมู่เหล่ามักดำเนินชีวิตแตกต่างกันออกไปตามสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม
เป็นบทสรุปเงียบๆ ระหว่างการนั่งปล่อยจิตใจให้ว่างเปล่า
ระหว่างกานต์เดินทางเยือนเมืองในหุบเขากาฐมัณฑุ หิมาลัย เนปาล

ขอระฆังแห่งความดี
จงพัดพาให้เกิดเสียงแห่งปีติขึ้นในใจ
ดังไปทั่วโลก

KΔNT
KΔNT

อดีตผู้ประกาศข่าวสายเศรษฐกิจ เจ้าของเพจ KANT.CO.TH ชื่นชอบในไลฟ์สไตล์ การท่องเที่ยวพักผ่อน ในโรงแรมหรู สนใจเรื่องราวงานดีไซน์ อสังหา การตลาด การลงทุน