อาหารเหนือก็เสิร์ฟแบบ Fine Dining ได้
LOCUS ร้านที่อยากพาความ Local ให้โกอินเตอร์
.
ราวๆ 7 ปีก่อน เราได้เห็นเชฟคนนึงผ่านบทสัมภาษณ์เล็กๆ ในนิตยสาร ถึงความตั้งใจในการเปิดร้านอาหาร Fine Dining ถ้าอ่านแค่ซับเฮด เราก็จะมองว่าธรรมดา ร้านสไตล์นี้มีดาษดื่น
.
แต่ระหว่างบรรทัดคือความน่าสนใจเพราะเชฟจะเสิร์ฟอาหารเหนือ และเปิดร้านที่เชียงราย!!
.
ต้องบอกว่า 7 ปีก่อน เชียงรายยังไม่เป็นที่นิยมเท่าเชียงใหม่ อัตลักษณ์เรื่องความเป็น Art ยังไม่ชัดเจนเท่านี้ แต่กานต์ว่านั่นไม่ใช่ประเด็น สิ่งสำคัญของการเปิดร้านอาหารที่เชฟต้องการคือนำเสนออาหารเหนือพร้อมเรื่องราวท้องถิ่นไปพร้อมกัน
.
ตอนนี้ร้านอาหารของเชฟที่บ้านสันตาลเหลืองได้ปิดไปแล้ว … เพื่อย้ายมาเปิดที่ใหม่ในป่าสักทองรีสอร์ต บ้านป่าสักทอง ไม่ไกลจากสิงห์ปาร์คเท่าไรนัก
.
แต่ที่ยากคือต้องจองมาก่อนล่วงหน้า ไม่รับ Walk in และเต็มไวเหลือเกิน กานต์จองล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน เพื่อจะมาชิมรสมือของทีมเชฟก้อง-ก้องวุฒิ ชัยวงศ์ขจร กับ 12 ที่นั่งต่อคืน
.
เรามาถึงราว 5 โมงเย็นนิดๆ ร้านยังไม่เปิดดี จะได้มีเวลาเดินชมและเก็บภาพพร้อมกับคุยกับเชฟก่อนแขกเข้าร้านประมาณ 6 โมงเย็น
.
เชียงรายในเย็นวันฝนตก บรรยากาศของบ้านดินมุงหญ้าคาท่ามกลางต้นไม้น้อยใหญ่ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้าน จึงมีกลิ่นหอมคละเคล้ากันไป ชวนให้ตกหลุมรักที่นี่มากยิ่งขึ้น
.
เชฟก้องเล่าว่า จุดเริ่มต้นคือการค้นหาความสุขให้กับชีวิต หลังจากได้ไปหมู่บ้านปกาเกอะญอ บ้านหินลาด ได้ปรัชญาการดำรงชีวิตคือ อยู่อย่างเรียบง่ายและเป็นอย่างธรรมชาติ พึงพอใจกับสิ่งที่มี พอใจในตัวเอง
.
เราคุยกันด้วยภาษาเหนือเสียเป็นส่วนใหญ่ สลับกับการบรรยายเป็นภาษากลางให้กับแขกในร้านและภาษาอังกฤษสำหรับลูกค้ามาเลเซียอีก 3 ท่าน ที่น่าสนใจคือตัวเชฟก้องนั้น จบที่แคนาดา มาเรียนทำอาหารที่เลอ กอร์ดอง เบลอ เคยเป็นเชฟร้านอาหารญี่ปุ่นและโรงแรม 5 ดาว และพูดภาษาเหนือสำเนียงเชียงรายได้ชัดมาก ทั้งๆ ที่เป็นคนกรุงเทพ!!
.
สะท้อนตัวตนได้ว่า ถ้าเขาอยากทำอะไร เขาใส่ไปเต็มที่
.
LOCUS จริงๆ แล้วแปลว่าสถานที่หนึ่ง รากศัพท์ของคำนี้ในภาษาสันสกฤต และภาษาละตินเหมือนกัน คือแปลว่าสถานที่ๆ หนึ่ง เราดึงสถานที่มาใช้ เราก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม ดินที่ใช้ฉาบก็ใช้ดินที่นี่
.
ทางเข้าร้านจะต้องเดินเข้ามาด้านในเป็นการทวิสต์แนวคิดใหม่ เพื่อให้เกิดจิตภาวนา พอพ้นหลังกำแพงมา ภาพเบื้องหน้าที่สีเขียวของต้นไม้ที่ดูร่มรื่นและบ้านดินหนึ่งหลัง มุงหลังคาด้วยหญ้าคาที่ใช้เทคนิคของชาวเขาเผ่าละหู่ที่มัดหญ้าเป็นมัดใหญ่ เรียกว่า “เปา” แล้วจับเปามามุงทั้งมัด เพื่อให้เก็บความเย็นเอาไว้และหนาแข็งแรงที่จะป้องกันแรงลมฝน
“อาหารเป็นของทีม มีจิตวิญญาณของทีมทุกคน ซึ่งตอนนี้มี 6 คน” ต้องครีเอทเมนูขึ้นมาตามโจทย์ ออกไปจ่ายตลาดเสาะหาแหล่งวัตถุดิบชั้นดีจากในท้องถิ่น จัดเตรียมอาหารซึ่งแต่ละจานองค์ประกอบเยอะมาก ในหัวของเรามีเสียงกลองระทึกตีรัวๆ ดังก้องเต็มไปหมด เพราะดูจากวิธีการแล้วละเมียดมาก จากนั้น 6 โมงเย็นก็จะเป็นเวลาเปิดโชว์โดยมีเชฟก้องเป็นผู้นำการเดินทาง และลูกค้าแบบเราก็เข้ามานั่งจนเต็ม 12 เก้าอี้
.
ทุกจนเป็นอาหารล้านนาแบบร่วมสมัยที่มีแรงบันดาลใจจากอาหารสูตรเก่าแก่ เชฟนำมาแยกส่วนประกอบและปรับรสให้กินได้ง่ายขึ้น และฟินาเล่คือการเสิร์ฟอาหารเมนูเดียวกัน แต่ปรุงตามวิถีดั้งเดิมเพื่อให้เห็นต้นฉบับและชิมรสต้นตำรับของทั้ง 11 จานอีกครั้ง
.
รสชาติของอาหารจะไม่หนักหรือจัดจนเกินไป ไม่จำเป็นต้องเผ็ดจนหัวระเบิด เพื่อให้แขกทานต่อได้โดยไม่เสียอรรถรส เชฟแนะนำให้สั่งไวน์มาดื่มคู่กัน เพราะอาหารทุกจานได้รับการรังสรรค์ให้จับคู่กับไวน์ซึ่งเชฟคัดมาให้แล้ว
.
น่าเสียดายที่เมนูรอบนี้ไม่มี ส้าบะแต๋ง หรือ ยำแตงกวาใส่น้ำปู ของโปรดของผม เอาจริงๆ คือ อยากชิมน้ำปู๋คริสปี้แหละว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร
.
นี่แค่เริ่มต้นของพาร์ทนี้ที่เราหยิบมาเล่า ส่วนรายละเอียดของอาหารแต่ละจาน บรรยากาศและรสชาติตอนทาน กานต์ใส่ไว้ในแคปชั่นของแต่ละภาพนะครับ