Kashmir : The Switzerland of India

Evanesco (อีวาเนสโค)!!

ผมเสกคาถาสะกดใจจากแฮรี่ พอตเตอร์ เพื่อจะพาทุกคนหายตัววับ!! แล้วไปเที่ยวแคชเมียร์กันครับ

ชุดที่ผมใส่ เป็นเสื้อคลุมกันหนาวของชาวแคชเมียร์ ที่ซื้อมาจากพ่อค้าที่ล่องเรือมาขายถึงใน โรงแรมเรือ หรือ เฮ้าส์โบ้ท

อารมณ์เหมือนเอาผ้าห่มมาตัดเสื้อ หนาและกันหนาวได้ดีพอสมควร ข้างในเสื้อจะอุ้มกระถางใส่ถ่านก้อนจุดไฟเอาไว้เพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย

เนื่องจากช่วงเวลาที่ไปแคชเมียร์ เป็นช่วงหิมะลงพอดี ความแฮปปี้ของคนเมืองร้อนที่ชอบอากาศหนาวอย่างเราจึงบังเกิด ถ้าใครอยากสัมผัสหิมะหรือขึ้นกระเช้ามาเล่นสกี แนะนำว่าเป็นช่วงปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี กำลังดีครับ

เชื่อว่าหลายคนคงจะมีภาพจำของอินเดียว่าเป็นเมืองที่มีอากาศร้อน คนตัวเหม็น สกปรกและมีสภาพความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างเบียดเสียดวุ่นวาย อยากจะบอกไว้ตรงนี้ว่าให้ลบภาพนั้นไปได้เลย เพราะที่แคชเมียร์จะเปิดมุมมองของอินเดียหน้าใหม่ที่ทุกคนต้องประทับใจอย่างแน่นอน ขนาดคนอินเดียเองยังต้องหนีร้อนมาพึ่งเย็นที่นี่ คิดดูสิครับ

แคชเมียร์เป็นรัฐที่ได้รับฉายาว่า “สวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย”   ถือเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่เหมาะกับการพักผ่อน ชมธรรมชาติที่สวยงาม มาดูหิมะ มาดูทุ่งดอกไม้ และสัมผัสอัธยาศัยไมตรีของผู้คนที่นี่

แคชเมียร์วันนี้ เปิดบ้านรอรับการมาเยือนของนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาชมความงามทางธรรมชาติกันอย่างไม่ขาดสาย แม้ภาพความรุนแรงเกี่ยวกับการสู้รบ ในอดีตยังติดตรึงอยู่ในใจใครหลายคน แต่วันนี้แคชเมียร์กลับคืนสู่ดินแดนแห่งความสงบ บวกกับต้นทุนทางธรรมชาติที่สวยงาม แคชเมียร์ จึงกลับมาเป็นเพชรเม็ดงามในวันที่ปลอดจากสงครามและควันปืนอีกครั้ง

เตรียมผ้าคลุมล่องหนให้พร้อมเข้าไว้!! แล้วเราจะหายตัวไปเที่ยวแคชเมียร์กันครับ

รัฐจัมมู และแคชเมียร์ เป็นดินแดนบริเวณพิพาทระหว่างอินเดีย, ปากีสถาน และจีน มาแสนนาน ตั่งแต่ประเทศอังกฤษให้อิสรภาพกับอินเดีย จนกระทั่งเมื่อปี 2005 สงครามเริ่มสงบลง เริ่มมีการเปิดเส้นทางรถโดยสาร รถไฟ และเส้นทางการค้า ระหว่าง สองฝากฝั่งแคชเมียร์ ตรงบริเวณรอยต่อการแบ่งเขตการปกครองแคชเมียร์ของอินเดีย และปากีสถาน หลังจากปิดมาเป็นเวลานานกว่าถึง 60 ปี

ปัจจุบันนี้ แคชเมียร์ เป็นเมืองท่องเที่ยวที่เงียบสงบ มีความปลอดภัย มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม มีหิมะเป็นพระเอกสุดหล่อ คอยดึงดูดใจให้คนมาเที่ยวหา มีดอกไม้บานหลากสีทำหน้าที่เป็นนางเอก แต่งแต้มความสดใสให้กับรัฐนี้ ผู้คนที่นี่ก็ใจดี มีน้ำใจ จนกลายเป็นภาพตรงข้ามกับเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตไปเสียหมด

If you look at Indian movies, every time they wanted an exotic locale, they would have a dance number in Kashmir. Kashmir was India’s fairyland. Indians went there because in a hot country you go to a cold place. People would be entranced by the sight of snow.

ใครชอบดูหนังแขก ขอบอกว่าไม่ควรพลาดที่นี่ เพราะเป็นสถานที่ถ่ายทำหนังอินเดีย ที่ชอบพากันวิ่งอ้อมเขาร้องเพลงหลายต่อหลายเรื่อง

จากเมืองไทยมาที่แคชเมียร์อินเดีย มีหลายสายการบินครับ แต่ต้องมาต่อเครื่องที่ Indira Gandhi International Airport เสียก่อน นั่งการบินไทยมาก็ได้ แต่เวลาต่อเครื่องอาจจะวุ่นวายเล็กน้อย ผมไม่ต้องทำวีซ่าอินเดีย เพราะมีวีซ่าติดเล่มมาประจำอยู่แล้ว ถ้าใครไม่อยากไปยื่นวีซ่าอินเดียที่อโศก ก็ขอออนไลน์มาก็ได้ แต่อาจจะต้องทำใจเผื่อเจอแจ็กพ็อตแถวคิวยาวเหยียดตรงตรวจคนเข้าเมือง

พอจะมีเวลาเหลือระหว่างรอต่อเครื่องอยู่บ้าง จึงมานั่งใช้บริการ Plaza Premium Lounge ภายในเทอร์มินอลภายในประเทศ ก่อนจะต่อเครื่องของสายการบิน Air India ไปยังสนามบิน Srinagar ของแคชเมียร์

Plaza Premium Lounge ก็ได้มาตรฐานดี ช่วงนี้ปรับปรุงใหม่ ขยายพื้นที่ต้อนรับสมาชิกสายการบินที่เพิ่มขึ้น

นั่งเครื่องราวชั่วโมงครึ่งก็มาถึง Srinagar Airport ครับ สนามบินค่อนข้างใหญ่ มีไฟล์ทต่อเนื่องทั้งวัน (ดีกว่าที่เลห์ ลาดักเย๊อะะะะะ) ซึ่งแคชเมียร์ก็อยู่ในไกลจากเลห์ ลาดักเท่าไรนัก เนื่องจากอยู่ในแคว้นเดียวกันคือแคว้นจัมมู (Jammu) คนอินเดียจะเรียกคนแคชเมียร์ว่า “กัศมีร์” แต่คนแคชเมียร์ไม่นิยมเรียกตัวเองว่าเป็นคนอินเดีย แต่จะเรียกตัวเองว่า Kashmiri มีภาษาเป็นของตัวเองและนับถือศาสนาอิสลาม

แคว้นจัมมู-แคชเมียร์ แบ่งออกเป็น 3 เขตหลัก

1. หุบเขาแคชเมียร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองศรีนาคาร์ (นับถือศาสนาอิสลาม พูดภาษาแคชมีรี)

2. จัมมู เขตเมืองหลวงประจำฤดูหนาวและชุมชนชาวฮินดู (นับถือศาสนาฮินดู พูดภาษาฮินดี)

3. ลาดัคห์ เขตแดนที่สูงสุด เป็นที่กั้นพรมแดนระหว่างแคชเมียร์กับทิเบต โดยตอนกลางมีแนวเทือกเขาหิมาลัยพาดผ่าน (นับถือศาสนาพุทธมหายาน พูดภาษาลาดักกี้)

สนามบินที่ศรีนาการ์ตรวจเข้มข้นมาก ในสนามบินค่อนข้างวุ่นวาย โดยเฉพาะบริเวณสายพานรับกระเป๋า ทั้งคนอินเดียเอง โปรดระวังเจ้าหน้าที่ พอร์เตอร์ที่อาสาจะมาช่วยขนกระเป๋า เพราะต้องเสียตังค์จ้า ไหนกระเป๋าจะมาช้า รถเข็นก็ไม่ค่อยจะพอ กว่าจะออกมาได้ใช้เวลาไปชั่วโมงนึง

ออกมาจากสนามบิน ก็สัมผัสลมแรกจากแคชเมียร์ เย็นสบายปะทะใบหน้า มีซากหิมะให้เห็นทั่วไป จากนั้นก็มองหาไกด์ พาไปขึ้นรถ จะใช้รถ Toyota Innova เป็นหลัก เพื่อความคล่องตัวและปลอดภัย นั่งคันละ 4 คนก็สบายๆ ไม่อึดอัดครับ เราจะตรงเข้าที่พักกันก่อน

ออกจากสนามบินก็เจอบรรยากาศ ของหิมะปกคลุมไปทั่วเมือง อุณหภูมิประมาณ 10 กว่าองศา มีลมพัดเย็นๆ สลับกับแดดร้อนๆ ตอนใกล้เที่ยง ระหว่างนั่งรถ เราก็จะผ่านบ้านคนมากมาย เอาเข้าจริงความเป็นอยู่ก็ไม่ถือว่าสบายมาก แต่ก็ไม่ลำบากเหมือนคนอินเดียในบางรัฐ ถนนหนทางสะอาด บางจุดก็ไม่ค่อยน่ามองดูเท่าไร ที่สำคัญมีเจ้าหน้าที่ทหารประจำการณ์อยู่ทั่วเมือง พร้อมปืนกระบอกใหญ่

“ห้ามถ่ายรูปเจ้าหน้าที่ทหาร” – ไกด์บอก หากใครละเมิด จะมีความผิดมาก

“งั้นถ่ายวิถีชีวิต ผู้คนบ้านเรือนละกัน” – ผมนึกในใจ

แม้จะมีทหารยืนคุมประจำตามจุด แต่ก็ไม่ได้ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวเสียไปแต่อย่างใด ดีเสียอีก รู้สึกอุ่นใจ 555 แต่ก็ไม่แนะนำให้มาคนเดียวหรอกนะ ขอมีเพื่อนชวนคุยสักคนก็ยังดี แต่ทั้งนี้ กับบรรยากาศและความแปลกใหม่ ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้นั่งรถชมเมือง มีความเป็นอิสระ สามารถแวะจอดถ่ายรูปตรงไหนก็ได้ คล่องตัวสูงดี อันนี้ชอบ

จุดหมายแรกคือเข้าที่พักที่บ้านเรือ เพื่อจัดเก็บสัมภาระ ใช้เวลาช่วงนี้เมียงมองไปตามถนนหาทาง ดูบ้านดูเมือง ดูผู้คน ที่นี่จะคล้ายกับเดลลี คือเจอแต่ผู้ชายอยู่นอกบ้าน 

หลังจากการเดินทางเลี้ยวลด คดเคี้ยว ผ่านการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดของทหารที่ประจำการณ์ตามจุดต่างๆ รถวิ่งผ่านถนนใหญ่ เข้าตรอกซอกซอย ลัดเลาะมาบ้าง ใช้เวลาประมาณชั่วโมงนิดๆ ก็มาถึงบ้านเรือ Zaffer House Boat

ที่นี่มี 2 ทะเลสาบหลักคือ ทะเลสาบดาล (Dale Lake) และทะเลสาบนากีน (Nagin Lake)

ผมเลือกพักที่หลังครับ … ถามว่าเพราะอะไร 

จากการเดินทางมาแคชเมียร์หลายครั้ง พบว่า ที่นากีน สะดวก สบายและสวยงามกว่าครับ ที่นี่ติดทั้งบกและทะเลสาบ ไม่ต้องพายเรือชิคารา (Shikara) เข้าออกให้วุ่นวาย แถมยังเป็นสัดส่วนระหว่างนักท่องเที่ยวกับบ้านเรือ (น) ผู้คน ทำให้สงบกว่ามาก และเท่าที่สัมผัส … ที่นี่สะอาดกว่ามากครับ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยราคาบ้านพักที่สูงกว่าพอสมควรครับ

“บ้านเรือ” คือสิ่งที่หลงเหลือมาจากยุคล่าอาณานิคมของอังกฤษ ปัจจุบันกลายเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจและเป็นจุดขายที่สร้างความประทับใจให้แคชเมียร์มาเนิ่นนาน

บ้านเรือเหล่านี้ทำมาจากไม้สนซีดาร์ ประดับประดาด้วยการแกะสลักวิจิตรบรรจงสไตล์แคชเมียร์สวยงามทั้งลำเรือ มูลค่าเรือแต่ละลำก็ไม่ธรรมดานะครับ หลายล้านเลยทีเดียว

หากย้อนอดีตกลับไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน … ด้วยเหตุที่ศรีนาการ์เป็นเมืองที่มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี และมีภูมิประเทศที่เป็นธรรมชาติที่สวยงาม คล้ายคลึงกับเมืองสวยๆ ในยุโรป เมื่ออังกฤษเข้าปกครองอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่แห้งแล้งและอากาศร้อนมาก ถึงมากที่สุด … คนอังกฤษในพื้นที่อื่นของอินเดียมักจะหนีอากาศร้อนมาพักผ่อนกันที่เมืองนี้กันมาก

ทางการอินเดียในตอนนั้น ไม่อนุญาตให้คนต่างชาติซื้อที่ดินปลูกบ้านกันที่นี่ … ชาวอังกฤษจึงได้สร้างบ้านเป็นเรือลอยน้ำที่สุดแสนหรูหราที่มีทุกอย่างภายในเหมือนบ้านหลังหนึ่ง โดยไม่ต้องลงหลักปักเสาเข็มให้ผิดกติกา ใช้วิธีลอยเรือในลำน้ำ เพื่อการพักผ่อน นอนเอกเขนกจิบชายามบ่ายอยู่ในน้ำรอบๆทะเลสาบ

ฟินเฟร่อ!!

เมื่อหมดยุคล่าอาณานิคม … บ้านเรือก็ยังคงอยู่ และได้ถูกดัดแปลงมาเป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว จนกลายเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของแคชเมียร์ และสวยมากจนสร้างความประทับใจให้กับทุกคนที่ได้เข้าพักตั้งแต่วินาทีแรก

ทันทีที่เปิดประตูตรงกลางเรือ ก่อนจะก้าวเข้าไปภายใน จะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 โซน คือโซนห้องพักกับโซนพักผ่อน ปูด้วยพรมผืนใหญ่หนานุ่มทั้งลำ (ที่นี่มีชื่อเสียงในการทำพรมส่งออก)

เมื่อเดินเข้าไปด้านใน การตกแต่งยังคงอลังการแบบเปอร์เซีย ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในวังของสุลต่าน มีชุดรับแขกที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางห้อง พร้อมเตาผิงโบราณ ส่วนด้านหัวเรือจะเป็นเฉลียงที่หันหน้าออกไปทางทะเลสาบ ซึ่งเงียบ สงบ ไม่พลุกพล่าน มองไปสุดสายตาจะเป็นแนวเทือกเขาหิมาลัยที่ปกคลุมด้วยหิมะตลอดทั้งปี 

การตกแต่งยังคงอลังการแบบเปอร์เซีย ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในวังของสุลต่าน มีชุดรับแขกที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางห้อง พร้อมเตาผิงโบราณ ส่วนด้านหัวเรือจะเป็นเฉลียงที่หันหน้าออกไปทางทะเลสาบ ซึ่งเงียบ สงบ ไม่พลุกพล่าน มองไปสุดสายตาจะเป็นแนวเทือกเขาหิมาลัยที่ปกคลุมด้วยหิมะตลอดทั้งปี ภายในบ้านเรือ โอ่โถงดีครับ ประกอบด้วยห้องนอน 2-3 ห้องภายในเรือ 1 ลำ มีห้องน้ำในตัว มีห้องรับแขก และระเบียงชานอยู่โซนหัวเรือ ห้องรับแขกอลังการมากๆ

ถัดจากห้องรับแขกเข้าไปด้านในเป็นห้องอาหาร จากนั้นก็จะเป็นทางเดินที่เชื่อมห้องนอนต่างๆ จำนวนของห้องนอนขึ้นอยู่กับเรือแต่ละลำ เรือหนึ่งลำจะมีอยู่ 2-4 ห้องนอน ซึ่งทีเด็ดคือ ห้องนอนใหญ่สุดจะอยู่ท้ายเรือ ดังนั้นใครที่มาถึงแล้วตื่นเต้นรีบจองห้องนอนแรกเลย ก็ปล่อยเค้าไป ของดีอยู่ด้านในสุดจ้า!!

ผมถ่ายภาพห้องนอนในเรือมาให้ดู 2 แบบ ใน 1 ห้องจะประกอบด้วยเตียงใหญ่ 1 เตียง เตียงเล็ก 1 เตียง อาจจะวางข้างกัน หรืออยู่คนละมุมห้อง ก็แล้วแต่การออกแบบในแต่ละลำ ที่สำคัญคือการตกแต่งด้วยไม้อย่างดี มีลวดลายแกะสลักวิจิตรงดงาม ผ้าที่ใช้เป็นผ้าปักลาย (เน้นลายดอกไม้) ประดับประดาด้วยงานศิลปะที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ภายในห้องจะมีฮีตเตอร์ทำความร้อนภายใน บนเตียงมีผ้าห่มไฟฟ้าให้บริการ และสามารถขอถุงน้ำร้อนจากพ่อบ้านได้

ห้องรับประทานอาหารที่จัดวางอย่างเรียบโก้ ชอบในความมีชั้นโชว์ของ

 มองจากโถงห้องรับแขกเข้าไป มุมนี้ก็สวยดี

ทีเด็ดยังไม่หมด!! บ้านเรือแต่ละลำจะมีพ่อบ้านให้การดูแลแขกที่พัก … แล้วแต่บุญแต่กรรมว่าเรือลำไหนจะได้พ่อบ้านคนไหน (พ่อบ้านเรือบางลำก็แซ่บมาก!! หน้าตาก็หล่อเหลาคมคายตามสไตล์แขกขาว มีหนวดเคราเล็กน้อย) พ่อบ้านก็คือบัตเลอร์ คอยดูแล อยากได้อะไรให้บอกพ่อบ้านครับ พ่อบ้านจะทำงานสารพัดเพื่อให้ผู้มาพักมีความสุข ตั้งแต่เตรียมอาหาร ซึ่งรับมาจากครัวกลาง เชิญทุกคนในบ้านมาทานข้าว (ต้องมาให้พร้อมหน้าครบทุกคน ถึงจะเสิร์ฟอาหาร ดังนั้น สมาชิกในบ้านต้องนัดหมายเวลากันให้ดี)

จากนั้น พ่อบ้านก็จะคอยเติมฟืนในเตาผิงให้ คอยต้มน้ำให้อาบ พ่อบ้านจะถามว่าเราอยากอาบน้ำกี่โมง (สมัยก่อนบ้านเรือยังไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่น แต่สมัยนี้ไม่ต้องแล้ว อยากอาบเมื่อไรก็ตามสบาย) อยากได้อะไรเรียกใช้บริการได้เลย … กระทั่งเตือนให้เราปิดม่านในห้องนอน ปลุกให้ตื่นตอนเช้า เรียกว่าดูแลกันในทุกรายละเอียดเลยทีเดียว

พ่อบ้านเหล่านี้ใจดี อัธยาศัยดีมากๆและเป็นมิตร จนเหมือนเป็นคนในครอบครัวเลยทีเดียว พ่อบ้านจะดีใจมาก หากเรามีปฏิสัมพันธ์กับเขา และหากใครพูดภาษาอังกฤษได้ละก็ … คุณได้เพื่อนใหม่เพิ่มอีกหนึ่งคนครับ

อาหารที่ทำจากครัวกลางของบ้านเรือจะเป็นอาหารท้องถิ่นง่ายๆ ครับ เช่น ไข่เจียว ไก่ย่างเครื่องเทศทั้งใบกระวาน กานพลู อบเชย แต่ไม่เข้มฉุนจัดเท่าอาหารอินเดีย อาหารแคชเมียร์ค่อนข้างจะมีรสชาติที่เข้มข้นด้วยส่วนผสมของเครื่องเทศ นอกจากนี้ยังมีอาหารจานผักที่มีให้ทานทุกมื้อ โดยเฉพาะมันฝรั่ง ถั่วแขก แตงกวา

ส่วนเครื่องดื่มจะเป็นชาร้อนๆ กลิ่นหอมๆ รสชาติดี อันเลื่องชื่อ พ่อบ้านพยายามจะให้เราลองดื่ม “ชาแคชเมียร์” เป็นชาใส่นมตามแบบฉบับของคนที่นี่ กลิ่นจะฉุนนิดๆ เพราะติดเครื่องเทศมาด้วย

ส่วนใครที่กังวลว่าจะมีอาการเมาเรือรึเปล่า นอนหลับหรือไม่ ขอบอกว่าไม่ต้องห่วงครับ บ้านเรือที่นี่ไม่มีอาการโคลงเคลง แต่กลับมั่นคงจนลืมไปเลยว่าเรากำลังอยู่ในเรือ เพราะพี่เล่นปักเสาเข็มยึดไว้ใต้ดินอย่างแน่นหนา

จะว่าไป การได้เข้ามาพักผ่อนอยู่ในบ้านเรือ กับการตกแต่งภายในที่สวยงาม และบรรยากาศภายนอกที่มองไปทางไหนก็มีแต่น้ำ ฟ้า ป่าเขา และเราสอง ก็ประทับใจดีมากแล้วครับ

แต่สักพัก ก็จะมีพ่อค้าพายเรือมาขายของ ซึ่งก็จะต้องขออนุญาตเราเข้าบ้านก่อน จากทางหัวเรือ

ของที่ใส่เรือนำมาขายก็จะมีหลากหลายครับ ส่วนมากเป็นของที่ระลึก งานไม้ งานเคลือบลงทอง จิวเวอรี่ เครื่องประดับ มีหลากหลายดีไซน์ เรื่อยไปจนถึงภาพวาด ผ้าปัก ภาพเขียน ชุดเครื่องแต่งกาย ผมก็ได้ชุดเสื้อคลุมเหมือนพ่อค้า มาจากในเรือนี่แหละครับ ชุดนึงต้อง 2,300 บาทแน่ะ!!

ชุดนี้ เดินจากเรือไปยังร้านใกล้ๆ ได้ซื้อมาในราคา 12,000 บาท เพราะเป็นงานปักมือทั้งตัว

สินค้าพื้นเมืองที่ขึ้นชื่อและโด่งดังมากนั่นคือ ผ้า ”พัชมีนา” (Pashmina) หรือ “แคชมีนา” ทำจากขนแพะ “พัชม์” (Pashm) ที่อาศัยอยู่แถบเทือกเขาหิมาลัย ใช้เป็นทั้งผ้าคลุมไหล่และผ้าพันคอ พรมแคชเมียร์ ลักษณะประณีตคล้ายพรมเปอร์เซีย แต่หนานุ่มกว่า มีลวดลายสวยงามแปลกตา ผลิตได้ดีเยี่ยมเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากพรมอิหร่านและอัฟกานิสถาน

จับคุณแพรวมาแต่งชุดสาหรี่สตรีอินเดีย

แคชเมียร์กับวิถีชีวิตของผู้คนในทะเลสาบ เป็นชีวิตที่คู่กับสายน้ำอันเงียบสงบ โดยมีเรือเป็นพาหนะสำคัญของการสัญจรในทะเลสาบกว้างใหญ่ แต่งแต้มสีสันด้วยสวนผักลอยน้ำ และมีตลาดน้ำยามเช้าที่มีชีวิตชีวาพอสมควร ชีวิตของชาวแคชเมียร์จึงดำเนินไปไม่แตกต่างชาวเอเชียอื่นที่มีแม่น้ำ ลำคลอง เป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิต

เราสามารถที่จะนั่งเรือชิคารา (Shikara) หรือ “เรือแท็กซี่”ที่มีไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว เพื่อชมทิวทัศน์อันงดงามภายในเขตทะเลสาบดาล ชิคารา เป็นที่ชื่นชอบเป็นอย่างมากของเหล่าคู่รักคู่ฮันนีมูน เพราะเป็นเรือที่ตกแต่งด้วยสีสันสวยงาม เบาะปูลาดด้วยพรมหนานุ่ม มีหลังคาสีสวยไว้บังแดด ล่องไปกลางทะเลสาบกัน อากาศกำลังเย็นสบาย คนพายเรือก็ฮัมเพลงไป เราก็นั่งชมวิวทิวทัศน์ไป ท่ามกลางอากาศที่ค่อนข้างหนาวเย็น แต่ก็นั่งไปเพลินๆ สบายใจพอสมควร

สักพักก็จะมีเรือพ่อค้าที่เล็งไว้ตั้งแต่เราลงจากเรือ มาขึ้นเรือ เตรียมเอาเรือของตัวเองมาประกบขายของ ทั้งผ้า เปเปอร์มาเช่ เครื่องประดับเงิน จำพวกต่างหู กำไล สายสร้อย เสื้อผ้ากันหนาวสีสดใส ถุงมือ งานหัตถกรรมจำพวกกระเป๋า หรือแม้แต่พรมผืนเขื่อง ก็ขนใส่เรือมาให้ดู  ขายได้บ้างไม่ได้บ้าง เรือสินค้าเข้ามาเทียบลำแล้วลำเล่า จน … หมดเวลา 

อ้าว!! แล้ววิวสองข้างทางอยู่ไหน!?!!

แคชเมียร์เป็นรัฐที่สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดปี เนื่องจากมีอากาศเย็นสบาย แม้กระทั่งในช่วงฤดูร้อนก็จะมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20 องศาเซลเซียสเท่านั้น แต่ถ้ามาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ อาจจะเจอกับใบไม้ที่ร่วงโรย ก่อนผลิบานใหม่ในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า แต่ถ้าใครอยากเห็นสวนทิวลิปก็มาเดือนเมษายนนะครับ

ด้วยอากาศที่แห้งๆ เย็นๆ สถานที่ท่องเที่ยวจึงยังไม่เน้นสวยเท่าไร เพราะเสน่ห์จะอยู่ที่ลานสกีบนเขามากกว่า เย็นนี้เราจึงไปเที่ยวกันเบาๆ ในเมือง Srinagar เป็นหลัก ซึ่งจะมีสถานที่ไฮไลท์ ไม่ว่าจะเป็นสวนที่ได้รับความนิยม 3 สวนได้แก่ Shalimar Bag, สวน Mughal Garden, และ Tulip Garden นอกจากนี้ยังมีวัด Cheshma Shahi สถานที่เหล่านี้จะอยู่รอบๆ ทะเลสาป Dal ทั้งหมด ใน Srinagar เอง การเดินทางโดยรถยนต์ไปสถานที่ต่างๆรอบทะเลสาปจะใช้เวลาห่างกันราวๆ 10-20 นาที (ขึ้นอยู่กับการจราจร เพราะเป็นถนนสองเลนวิ่งสวนกันแต่ถ้าเป็นวันเสาร์อาทิตย์รถจะเยอะหน่อย)

มีบริการให้เช่าชุดพื้นเมืองใส่ถ่ายรูปด้วยครับ

เจอนายแบบตัวน้อย เจ้าของร้านเช่าชุด น่าชังเชียวครับ จับมาถ่ายรูปซะเลย

ทะเลสาบในกลางเมืองศรีนาการ์ สถานที่ยอดนิยมของคนท้องถิ่น ที่จะมาชมพระอาทิตย์ตกดินกันที่นี่

ทะเลสาบยามพระอาทิตย์ตก … สวยงามมาก

เช้าวันต่อมาเรานั่งรถขึ้นเขา เพื่อที่จะต่อกระเช้าไปยังกุลมาร์ค Gulmarg แปลว่าทุ่งดอกไม้ วันที่เราไปถึง Gulmarg ไม่มีดอกไม้ แต่มีหิมะสูงกลายเป็นภูเขาหิมะ และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไฮไลท์ ที่ตั้งอยู่ห่างจากเมืองศรีนาการ์ไปประมาณ 58 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณหนึ่งชั่วโมง ระหว่างทาง บรรยากาศนอกตัวเมืองจะเริ่มเปลี่ยนไป เราจะเห็นหิมะหนาขึ้นเรื่อยๆ กองสีขาวโพลนสุดลูกหูลูกตา ทว่า ถ้าตกใส่หลังคาก็น่ารักดีนะครับ

เมื่อมาถึงตีนเขา จะต้องเช่ารองเท้าบูต ย่ำหิมะ ค่าเช่าคู่ละ 100 รูปีอินเดีย (ประมาณ 50 บาท) เลือกคู่ใหม่ๆ หน่อยละกัน จากนั้นก็ต้องเปลี่ยนเป็นขึ้นรถท้องถิ่น ที่เอาไว้ตะลุยหิมะโดยเฉพาะ บรรยากาศก็สนุกสนานปนทุลักทุเลพอสมควร แต่ก็แปลกใหม่ เป็นประสบการณ์ที่ดี

ระหว่างรอรถ ก็เล่นหิมะถ่ายรูปเพลินๆ

รถมาส่งตรงจุดที่เป็นโรงแรมร้านอาหารด้านล่าง ก่อนขึ้นกระเช้า เราสามารถพักรับประทานอาหารเที่ยงที่ภัตตาคารแถวนี้ได้ อีกอย่างก็เผื่อเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกาย

จากรถ มาต่อ Gondola (กระเช้า) Gulmarg (กุลมาร์ค) เพื่อที่จะนั่งไปขึ้นเขา Gondola ที่ Gulmarg เป็น Cable Car ที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

มองจาก Gondola เราเห็นทิวต้นสน และมีบ้านของยิปซีที่ย้ายไปอยู่ที่ Jummu ในช่วงฤดูหนาว และย้ายกลับมาที่ Kashmir ในช่วงหน้าร้อน นอกจากต้นสนและบ้านยิปซี บรรยากาศ 2 ฝั่งบนกระเช้าทุกอย่างล้วนเป็นสีขาว

Gulmarg Gondola จะมี 2 เฟสครับ เวลาซื้อตั๋วต้องแจ้งให้ดี จะมีเฟส 1 คือจาก Gulmarg ถึง Kungdoor ความสูง 3,080 เมตรจากระดับน้ำทะเล และเฟส 2 คือจาก Kungdoor ถึงยอด Aparwath ความสูง 3,979 เมตร แต่จุดสูงสุดของยอดเขา Aparwath คือความสูง 4,200 เมตร สามารถมองเห็นยอดเขาที่มีความสูงเป็นอันดับสองของโลกอย่าง K2 บริเวณช่องเขา คาราโครัม (Karakorum Pass) ได้อีกด้วย

Gulmarg เป็นอีกหนึ่งสุดยอดสกีรีสอร์ทในทวีปเอเชียที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น Winter Sports of India นอกจากนี้ยังเป็นลานสกีที่ได้ชื่อว่าถูกที่สุดในโลกอีกด้วย

สถานีแรก Gulmarg ถึง Kungdoor คนก็จะเยอะหน่อย ทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ คนอินเดีย และคนแคชเมียร์ พากันมาเล่นปาหิมะ ปั้นตุ๊กตา เล่นสกี สโนว์บอร์ดดิ้ง สโนว์โมบิล

ผมชอบเวลาเราใส่เสื้อสีสันสดใสแล้วถ่ายกลางหิมะ เพราะว่าขับให้เราดูเด่น ท่ามกลางสีขาว แต่ที่สำคัญคืออย่าลืมทาครีมกันแดดนะครับ แดดแบบนี้ ดำดีนักแล อ่อ อย่าลืมติดแว่นกันแดดไปด้วย หลายคนเลือกแบบที่มีปรอท

กิจกรรมลากเลื่อนก็ได้รับความนิยมเช่นกัน

ได้เวลาไปลุยสกีกัน!!

หิมะที่ Srinagar กลายเป็นไฮไลท์ที่สนุกมากของการมาเที่ยวแคชเมียร์ต้นเดือนกุมภาพันธ์

แคชเมียร์เป็นรัฐที่สามารถเที่ยวได้ทุกฤดูแถมยังเดินทางสะดวก มีทั้งทุ่งดอกไม้และภูเขาหิมะเป็นทิวทัศน์และธรรมชาติสวยๆ รออยู่ปลายทาง ใครอยากไปเที่ยวสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชียในราคาประหยัด ไม่ต้องบินไปไกลถึงสวิตเซอร์แลนด์ก็สามารถฟินกับบรรยากาศสวยๆ สไตล์ยุโรปได้

เรื่องราวต่างที่เห็น ยังคงจดจำได้ทุกความประทับใจในแคชเมียร์ นอกเหนือไปจากการเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวทางธรรมชาติแล้ว แคชเมียร์ยังเป็นเมืองที่โดดเด่นในด้านวัฒนธรรม โบราณสถานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีสายวัฒนธรรมเชื่อมโยงใกล้ชิดกับกันธาระ เราจะพบซากโบราณคดีทางพุทธศาสนาในดินแดนแคชเมียร์ ตลอดจนเทวาลัยฮินดูที่สำคัญอีกหลายแห่งก็มีปรากฎที่ดินแดนแห่งนี้ แต่ศาสนาหลักของผู้คนที่นี่คืออิสลามครับ 

จากประวัติศาสตร์อันยาวนานที่แผ่นดินแคชเมียร์ ผ่านความร้อนผ่านหนาวและภัยสงครามที่ยาวนาน ทั้งปัญหาการสู้รบระหว่าง อินเดียกับปากีสถาน และปัญหาผู้ก่อการร้าย เหล่านี้ได้หล่อหลอมให้ชาวแคชเมียร์เป็นคนที่มีความสุภาพ อ่อนน้อม รักความสงบ มีความงดงามอยู่ในใจ ซึ่งผู้ไปเยือนสามารถสัมผัสได้ด้วยความรู้สึกและจากแววตาที่เป็นมิตร ด้วยธรรมชาติที่งดงามนั่นเอง ทำให้ชาวแคชเมียร์มีความเป็นศิลปินในตัว และถ่ายทอดผลงานด้วยฝีมือที่เลื่องชื่อ

แคชเมียร์ จึงถือว่าเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่เหมาะกับการพักผ่อน ชมธรรมชาติที่สวยงาม มาดูหิมะ มาเล่นสกี มาดูทุ่งดอกไม้ สัมผัสอัธยาศัยไมตรีของผู้คนที่นี่ และที่สำคัญคือ “ต้องมานอนบ้านเรือ” ครับ

 

KΔNT
KΔNT

อดีตผู้ประกาศข่าวสายเศรษฐกิจ เจ้าของเพจ KANT.CO.TH ชื่นชอบในไลฟ์สไตล์ การท่องเที่ยวพักผ่อน ในโรงแรมหรู สนใจเรื่องราวงานดีไซน์ อสังหา การตลาด การลงทุน