ในกานต์เดินทาง ทริป เส้นทางสายไหมนั้น ขากลับ ผมใช้วิธีต่อเครื่องจากหลันโจวไปลงเฉิงตู ก่อนจะนั่งการบินไทยกลับบ้านครับ
ถามว่าทำไมเลือกหลันโจว … หรือว่า … ผมจะกลับภูมิลำเนาไปเยี่ยมบรรพบุรุษหรือเปล่า
เปล่าครับ … ผมไม่มีเชื้อจีนเลย แม้จะมีคนคุยกันเรื่องเชงเม้ง ตรุษจีนอะไร ผมก็ไม่เคยรู้เรื่อง แต่ที่มาหลันโจวก็เพราะมีสถานที่หนึ่งน่าสนใจสำหรับสายอาร์ตตัวลูกอย่างผม
อ๊ะ!! แล้วลื้อไปควงอาม่าที่ไหนมาถ่ายรูป!!
ผมยอมรับโดยดุษฎีว่าทีแรกก็ไม่ทราบ แต่พอเห็นหลายคนต่อคิวกันเข้าไปขอถ่ายรูป เลยต้องเอากับเค้าสักหน่อย ไม่งั้นตกขบวน
ถามไถ่ได้ใจความว่า สุภาพสตรีท่านนี้ชื่อ เหอเอ้อ
ถามว่า … แล้วยังไงต่อ เป็นซุปตาร์หรืออย่างไร
ก่อนตอบ … คุณเห็นรูปปั้นด้านหลังนี้ไหมครับ นี่แหละคืองานศิลปะที่ผมพูดถึงและต้องดั้นด้นมาดูให้ได้ถึงที่หลันโจว
ชื่อ อนุสาวรีย์มารดาแม่น้ำเหลือง (Huang He Mu Qing) “หวงเหอหมู่ชิน”
เป็นผลงานของศิลปินหญิงชาวจีนท่านหนึ่ง …. ซึ่งก็คือสุภาพสตรีใจดีที่ผมขอถ่ายรูปด้วยนี่แหละครับ
เซอร์ไพรส์!!
ตกใจทันทีที่รู้ความจริง มือไม้สั่นงันงก นี่เราทำอะไรลงไป ได้เจอตัวจริงเสียงจริง แถมได้ถ่ายรูปจับมืออีกต่างหาก
คุ้มค่ามากสำหรับทริปจีนคราวนี้
รูปปั้นมารดาแม่น้ำเหลือง สลักจากหินแกรนิต มีความยาว 6 เมตร กว้าง 2.2 เมตร และสูง 2.6 เมตร มีน้ำหนักกวา 60 ตัน ตั้งอยู่ช่วงกลางถนนปินเหอลู่ สร้างเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1986
ที่สำคัญคือเป็นงานประติมากรรมที่เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของชนชาวจีน ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดรูปหนึ่ง ใครมาหลันโจวต้องแวะมา
โชคดีในวันที่มา มีกองถ่ายสารคดีมาถ่ายทำเรื่องราวของศิลปินผู้สร้างงานศิลปะชิ้นนี้พอดี เลยถือเป็นโชคสองชั้นของผมไป
งานประติมากรรมชิ้นนี้มีลักษณะเป็นรูปนอนตะแคง ศอกดันศรีษะชัน ปรายตามองลูกน้อยที่นอนอิงแอบอยู่ข้างๆ ซึ่งความพีคมันอยู่ที่สายตาของแม่ที่นางมองดูลูกน้อยนั้น คนจีนเค้าเห็นตรงกันว่าช่างเป็นแววตาแห่งความอบอุ่นเหลือเกิน เปี่ยมด้วยความรักเป็นที่สุด
เปรียบไปก็เหมือนรูปปั้นนี้กับแม่น้ำหวงเหอ เสมือนเป็นแม่ที่หล่อเลี้ยงมวลประชาชนชาวจีนหลายร้อยล้านคนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 4,000 ปี
งานประติมากรรมชิ้นนี้ จึงสร้างความประทับใจให้กับคนจีนทั้งแผ่นดินเป็นอย่างมาก จึงไม่ควรพลาดหากได้มีโอกาสมีหลันโจว ครับ