#ดอยดินแดง แหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของ #เชียงราย ใครสายอาร์ตคือน่าไปมากกกกก … ได้เรียนรู้ชีวิตที่เริ่มต้นจากดิน
“ดินมันก็เหมือนคนเรา ข้างในเป็นอย่างไร ข้างนอกก็ย่อมแสดงออกมาอย่างนั้น”
#ทริปเชียงราย ครั้งล่าสุด กานต์ได้มีโอกาสไปลองทำงานศิลปะที่ Doy Din Dang Pottery ดอยดินแดง ของอาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ ศิลปินชาวเชียงราย ผู้ที่ปั้นให้ดินกลายเป็นสินทรัพย์และศิลปะ
ที่นี่เป็นทั้งบ้าน สตูดิโอ โรงงานเซรามิค ร้านจำหน่ายงานปั้น แกลอรี่และมีคาเฟ่สำหรับนั่งจิบกาแฟแต่ผมว่าไอศครีมโฮมเมดของที่ดอยดินแดง อร่อยมากครับ และแก้วกาแฟ จานชามทุกชิ้นที่ใช้ในคาเฟ่ ก็มาจากโรงปั้นที่อยู่ติดกันนี่เองครับ
ผมได้มีโอกาสไปลองสร้างสรรค์งานศิลปะสอนโดยอาจารย์ทามาโกะ ภรรยาของอาจารย์สมลักษณ์ ซึ่งแน่นอนว่า “ไม่สวย” 555 แต่ไม่ได้แคร์ เพราะในแง่ของจิตวิญญาณที่ผมใส่เข้าไปในงานคือเต็มจริตมาก เป็นฟีลลิ่งจริงที่เกิดขึ้นขณะวาด นี่ก็กำลังรอให้ส่งจานและแก้วที่ผมวาดลวดลายและเผาเสร็จแล้ว กลับมาให้อยู่ ลุ้นมากว่าหน้าตาจะเป็นอย่างไร
เท่าที่ผมสังเกตและพูดคุยดู ทำให้ได้รู้ว่า อาจารย์สมลักษณ์ ใช้เทคนิคของการสร้างงานจากวัสดุธรรมชาติ 100% ไม่ว่าจะเป็นดินจาก 3 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ และ พะเยา เคลือบด้วยสีซึ่งมีที่มาต่างกัน เช่น สีฟ้ามาจากขี้เถ้าไม้ไผ่ สีแดงมาจากขี้เถ้ากระดูกสัตว์ สีดำมาจากขี้เถ้าแร่โลหะ สีขาวด้านมาจากขี้เถาหินฟันม้าและหินแร่หนุมาน
ทำให้งานปั้นที่ออกมาจากดอยดินแดงไม่ได้ใช้เคมีเข้ามาผสม ทว่าเกิดเป็นลวดลายได้โดยแร่ธาตุจากธรรมชาติที่ประทุขึ้นมา และลวดลายตามธรรมชาติที่ซ่อนอยู่ในดิน การทำเคลือบแต่ละอันที่ผสมกันออกมา มันก็ได้ตัวใหม่ๆ อยู่ตลอด แม้กระทั่งตอนปั้นเองก็ไม่จำเป็นต้องทำให้ถ้วยแต่ละใบสวยสมบูรณ์แบบ “แต่ต้องมีเอกลักษณ์ในตัวเอง”
ดังนั้น ทุกครั้งที่เปิดเตามันจึงมีความท้าทายและตื่นเต้นอยู่เสมอว่า ผลงานชิ้นนั้นมันจะออกมาเป็นอย่างไร และแน่นอนว่า ทุกชิ้นจะมีเพียงหนึ่งเดียวในโลกเท่านั้น
“ดินมันมีความหลากหลาย มีแร่ธาตุที่ให้สีสันตามธรรมชาติ ดินที่มีสินแร่เยอะ เวลาเคลือบสีขาวก็จะไม่เป็นสีขาว มันจะมีสีหรือร่องรอยอย่างอื่นออกมาด้วย ซึ่งมันให้ความรู้สึกของดิน ถ้าเราเข้าใจดิน ก็จะรู้ว่าต้องเติมอะไร เพื่อให้มันเกิดสีอะไร”
งานของดอยดินแดงจะมีกลิ่นอายของความเป็นญี่ปุ่นและไทยล้านนา อาจจะเป็นเพราะประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้และรับมาจากเกาะคิวชู ที่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแหล่งมีชื่อเสียงด้านเครื่องปั้นมากว่า 400 ปี อาจารย์สมลักษณ์ได้มีโอกาสไปเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ Twao Onuma และ Tarouemon Nakagato อยู่ถึง 5 ปี เริ่มตั้งแต่ทำหน้าที่ล้างดิน ล้างขี้เถ้า และนวดดิน นานหลายปีกว่าจะได้เริ่มปั้น กระนั้น วิถีแบบเซน ก็เป็นเข็มทิศในการทำงานศิลปะของอาจารย์ได้ดี
“เราต้องทำตัวให้เป็นหนึ่งเดียวกับดินก่อน ถึงจะเริ่มปั้นมันได้ นี่เป็นหลักคิดของคนญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นเค้ามีมุมมองลึกซึ้งมากนะ ตามแนวคิดของเซน การใส่ใจวัตถุธาตุต่างๆ จากธรรมชาติ เวลาเราจะทำแจกัน เราก็ต้องเข้าใจก่อนว่าธรรมชาติของดอกไม้มันมีความสวยงามอย่างไร แจกันที่ปั้นจึงต้องไม่เด่นเกินไปกว่าความสวยงามของดอกไม้ที่ปักไว้ ถ้วยชามก็เหมือนกัน สิ่งสำคัญคือการใช้สอยมากกว่าความสวยงามต่างหาก”
ผมชอบที่อาจารย์สมลักษณ์เรียกตัวเองว่า “ผมเป็นคนทำถ้วย ทำจาน” เป็นคนทำงานศิลปะที่ใช้สอยได้จริง และความต้องการใช้สอยของผู้ใช้ ทำให้เกิดการกำหนดรูปทรงของภาชนะ ไม่ใช่สักแต่ว่าอยากปั้นอะไรก็ได้ แต่ต้องคำนึงว่า คนที่ใช้ จะนำถ้วย โถ หม้อ ไห จาน ชาม เหล่านั้นไปทำอะไร
เพราะสุดท้าย มันคือ #ความว่างเปล่า ที่เราสร้างขึ้นเพื่อให้จุสิ่งของอื่นเข้าไปได้
เป็นความคราฟท์ที่คมมากครับ
ดอยดินแดง เครื่องปั้นดินเผา
49 หมู่ 6 ซอย 3 บ้านป่าอ้อ ถ.พหลโยธิน ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย 57100
โทร.0-5370-5291 เปิด 08.30-16.00 น. ปิดวันอาทิตย์
ราว 6 กม.จากสนามบินเชียงรายมุ่งหน้าไปทาง อ.แม่สายดอยดินแดงจะอยู่ทางด้านขวามือในซอยเดียวกับหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว เข้าซอยไปประมาณ 2 กม.