#โรงแรมนี้มีเรื่องเล่า EP5 : Soneva Kiri
ไม่ใช่แค่ Eco-Friendly แต่คือ Forest-Friendly
“ปล่อยให้ความหรูหราเป็นไปตามธรรมชาติของมัน”
_
กานต์เกริ่นหัวเรื่องไว้แบบนั้น เพราะอย่างที่เคยบอกว่า ปัจจุบัน นิยามใหม่ของคำว่า Luxury หรือแปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า หรูหรา มีระดับ มันเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ
หมดยุคจากที่เคยโชว์พรมขนสัตว์ จัดวางเฟอร์นิเจอร์หลุยส์สีทอง ต้องแสงไฟวิบวับ กลับกลายมาเป็นความเรียบง่ายจากสีเขียว สีน้ำตาลแบบเรียลๆ ของไม้ ซ่อนตัวอยู่เงียบๆ ขออนุญาติให้ตัวเราได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ไม่ใช่การหยิบกำเอาธรรมชาติมายัดไว้ในมือ
นี่คือทริป 4 วัน 3 คืนที่ Soneva Kiri เกาะกูด รีสอร์ตที่กานต์อยากเรียกว่าเป็น Forest-Friendly เพราะมันเกินเบอร์คำว่า Eco-Friendly ไปแล้ว
“Intelligent Luxury” คือหลักที่ทาง Soneva นำมาสร้างสรรค์รีสอร์ต ด้วยการทำความเข้าใจในแก่นของคำว่า #หรูหราที่แท้จริงสำหรับผู้เข้าพักคืออะไร คือความเป็นธรรมชาติที่หรูหรา ขณะเดียวกันก็นำเสนอ #ประสบการณ์ใหม่ ไปพร้อมกัน เป็นการสร้างเรื่องราวและความทรงจำที่มีคุณค่าในชีวิตของแขกผู้เข้าพักได้อย่างลึกซึ้ง
ผมไป Forest Tour กับพี่เขม ผู้จัดการฝ่ายภูมิทัศน์ของ Soneva Kiri แน่นอนว่าเราต้องเดินเท้าเปล่าตามคอนเซปต์ No Shoes ได้ไปดูและเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้ในเกาะกูด สนุกมากครับ พื้นที่ของ Eco Centro ทั้งหมดประมาณ 10 ไร่ จากพื้นที่รีสอร์ต 400 ไร่ จริงๆ จำนวนพื้นที่ 10 ไร่ สามารถสร้างรีสอร์ตบนเกาะกูดได้อีกแห่งนึงเลยนะ
#ที่นี่ไม่ให้ตัดต้นไม้ อย่าแปลกใจถ้ามันจะดูเป็นป่ารกๆ เพราะต้องการให้เป็นไปตามธรรมชาติจริงๆ ที่น่าสนใจก็คือการปลูกไผ่หลายสายพันธ์ุ เพื่อเอาไว้ซ่อมแซมรีสอร์ต และคุณโซนุกับคุณอีวา เจ้าของต้องการให้แขกที่มาพักรู้สึกเย็นสบาย จึงให้ปลูกไผ่ไว้ตามถนนเพื่อให้เป็นซุ้มโค้งๆ ไปตลอดทางสร้างความร่มรื่น
เอาจริงๆ ผมเองก็เพิ่งรู้ว่าที่เกาะกูดเป็นป่าร้อนชื้นแบบเดียวกับเขาใหญ่ มีปริมาณน้ำฝนเยอะ ทำให้มีพวกมอส ตะไคร่ขึ้นเต็มไปหมด ดินที่นี่มีความเป็นสนิม ปลูกอะไรก็ไม่ค่อยขึ้น พี่เขมจึงต้องใช้เทคนิคบางอย่างในการปลูกพืชผักเพื่อส่งให้กับครัวของรีสอร์ตได้นำไปปรุงเป็นอาหารต่อให้กับแขก และเป็นผักปลอดสาร ทานได้ปลอดภัย น่าสนใจมากครับ
นี่คือการมาพักผ่อนในรีสอร์ตที่เจาะลึกที่สุดในชีวิต กานต์อยากให้ไปตามอ่านเรื่องราวต่อด้านใน ทริปนี้จะพาไปเดินป่าที่ Soneva Kiri : The Forest-Friendly Resort หนึ่งเดียวในประเทศไทยครับ
#discoversoneva#experiencesoneva#soneva25#sonevakiri#themarcompro
—
การเข้าพักที่ Soneva Kiri ของกานต์ไม่ใช่แค่การมาเปลี่ยนที่นอนเหมือนรีสอร์ตทั่วไป แต่เป็นความผูกพันอันเกิดจากประสบการณ์ที่แบรนด์ตั้งใจคัดสรรและมอบให้ (Inspiring a Lifetime of Rare Experiences) ทำให้รู้สึกว่าเราต่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน และเราต่างเป็นเสี้ยวเล็กๆ ของธรรมชาติอันกว้างใหญ่
ไม่ใช่แค่เรื่องราวของการเข้าพักรีสอร์ต แต่ที่นี่มีประสบการณ์ใหม่รอให้เราได้เข้าไปสัมผัสเยอะมากครับ ดังนั้น 3 วัน 2 คืนอาจจะไม่พอ หรือไม่ก็ต้องมาพักต่อครั้งหน้าแบบผม
ลองดูรายละเอียดเกี่ยวกับ experience ที่ทางรีสอร์ตจัดให้สิครับ https://soneva.com/resorts/soneva-kiri/experiences/ เยอะมากจริงๆ
แต่ที่ผมชอบก็คือ Treepod Dining เป็นโมเมนต์ที่ประทับใจมาก อยากให้มาลองช่วง Sunset ดูนะครับ
ผมเคยเขียนเรื่องราวของ Soneva Kiri รีสอร์ตหรู ที่มุ่งเน้นการสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตที่เราจะได้รับจากประสบการณ์อันหาที่ไหนไม่ได้ เอาไว้ยาวมาก อยากให้ตามกลับไปอ่านกันที่ https://www.kantjournal.com/category/hotel/soneva/ มาเป็นซีรีย์เลยครับ
และอ่านเรื่องราวใหม่ได้ที่ https://www.facebook.com/kantjournal/posts/10160231829404271
เป็นรีสอร์ตที่มีเรื่องราวว๊าวๆ อยู่ตลอดเวลา ผมเพิ่งสังเกตว่าที่นี่มีสนามเทนนิสที่สวยมากอยู่กลางป่า ถ่ายจากมุมบนมาคือกลมกลืนดีมาก
เป็นรีสอร์ตที่ตั้งใจให้เราได้ฮีลตัวเองด้วยธรรมชาตินานา ไม่ว่าจะเป็นรับวิตามินD จากแสงแดดอ่อนๆ ตอนเช้า แช่อ่างจากุซชี่ท่ามกลางแมกไม้ หรือได้ทานอาหารในสวนด้วยวัตถุดิบที่เราไปเด็ดมาให้เชฟเองเลยครับ เหล่านี้เป็นการให้เราเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติได้อย่างลงตัวให้มากที่สุด
วิลล่าของผมทริปนี้คือ บีชพูลวิลล่าสวีท 1 ห้องนอน ครับ อยู่ติดชายหาดส่วนตัวหน้าวิลล่าเดินลงไปได้เลย
ดีไซน์และฟังก์ชันของแต่ละวิลล่าจะหน้าตาคล้ายๆ กัน แต่บางวิลลาก็จะมีความพิเศษ เช่นมีสไลเดอร์ มีฟิตเนสเพิ่มมา แต่ที่ๆ ทุกวิลล่าคือบรรยากาศดีมาก จนแทบไม่อยากออกไปไหน มาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน
วิลล่ามี 2 ฝั่งคือซ้ายเป็นห้องนอนส่วนขวาคือ Ourdoor Living มินิบาร์ กาแฟ จะอยู่ข้างนอกนี้ มีโซฟาสีเหลืองสลับเขียวจัดไว้ พร้อมหมอนเข้าชุดกัน หันหน้าออกไปทางชายหาด ด้านล่างจัดโซฟาพร้อมกับเตียงอาบแดดสีเหลืองเอาไว้เป็นสัญลักษณ์ไปเสียแล้ว
พื้นที่ Outdoor ดีไซน์ให้อารมณ์ Glamping เบาๆ กานต์หยิบหนังสือที่ยืมมาจากห้องสมุดของรีสอร์ต เอามานั่งอ่าน พร้อมกับวางเท้าสัมผัสหญ้า เพื่อคลายประจุลบออกจากตัว ให้ธรรมชาติช่วยเยียวยา พร้อมกับรับพลังจากแสงอาทิตย์อ่อนๆ ผมว่าช่วยได้เยอะเลยครับ
ทั้งหมดมี 36 วิลล่าที่เรียงรายอยู่ใต้ร่มไม้เมื่อมองจนท๊อปวิวลงมาเสมือนกับว่าวิลลากับป่าไม้และทะเลกลายเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน วิลล่าแต่ละหลังจะกระจายกันไปในโซนต่างๆ Hill บ้าง Ocean บ้าง มีขนาดตั้งแต่ 1 ถึง 6 ห้องนอน แต่ที่แน่ๆ ทุกหลังจะตั้งอยู่ห่างกันเพื่อความเป็นส่วนตัวและมีสระว่ายน้ำอยู่ทุกหลัง โดยมีต้นไม้ใหญ่น้อยโอบล้อมเอาไว้ เรียกได้ว่ามีความเป็นส่วนตัวอยู่สูงมาก
ภาพมุมสูงที่เห็นเป็นเซ็นเตอร์ของ Soneva Kiri เกาะกูดครับ กิจกรรมและสิ่งอำนวยความสะดวกส่วนใหญ่จะรวมไว้ที่นี่
สังเกตว่าที่ไม้มีหลายสีเนื่องจากที่นี่มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงวัสดุอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากไม้ก็จะมีความเก่าผุผังไปตามประสา ซึ่งต้องยอมรับว่าค่า maintenance ที่นี่สูงมาก เพราะใช้การก่อสร้างตามธรรมชาติ เน้นไม้ ปลูกไผ่ไว้เพื่อนำไม้มาซ่อมแซม ส่วนไม้เก่าก็ไม่ได้เอาไปทิ้ง ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ขนาดเล็กบ้าง ทำเชื้อเพลิงบ้าง ใช้วัสดุจากธรรมชาติให้คุ้มค่าที่สุด เป็นไปตามปรัชญาในการดำเนินธุรกิจ คือ “เป็นมิตรและรักษาสิ่งแวดล้อม”
ที่นี่มีรถบัคกี้ไฟฟ้าให้ขับไปไหนมาไหนเองได้เลย ซึ่งมีให้รีสอร์ตละ 1-3 คันตามจำนวนแขก มีป้ายชื่อติดไว้ เราขับไปใช้บริการที่ South Beach ซึ่งเป็นหาดส่วนตัวของรีสอร์ต จอดรถไว้ด้านนอกแล้วเดินผ่านสวนมะพร้าวเข้าไป เป็นอีกมุมที่ไม่ค่อยได้เห็นใน Soneva Kiri ถ้าไม่ได้มาที่บีช
Soneva Kiri เกาะกูด ตั้งอยู่บริเวณแหลมโป่งหลักอวน ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งของเกาะกูดที่มีความสวยงาม ด้วยความที่ภูมิศาสตร์อยู่บนพื้นที่โค้ง ส่งผลให้ Soneva Kiri มีวิวทิวทัศน์ให้ชมค่อนข้างหลากหลาย และมีหาดให้เลือกหลายมุม
ที่ชายหาดมีกิจกรรมให้ทำเยอะครับ คายัคก็มี แพดเดิลบอร์ดก็มี มีเรือใบล่องไปเที่ยวด้วย สนใจกิจกรรมไหนก็แจ้งเจ้าหน้าที่ประจำจุดได้เลย หรือบอกให้ Barefoot Butler ช่วยจองให้ก่อนก็ได้
ห้องอาหารไดนิ่งรูม (Dining Room) เป็นอีกมุมที่ผมชอบเพราะมีวิวพระอาทิตย์ตกที่สวยและปกคลุมด้วยต้นไม้ครึ้มตลอดทั้งวัน ถ้าเย็นไหนอากาศดีๆ ลองมานั่งโต๊ะด้านนอกแบบนี้ดูนะครับ
โต๊ะตั่งอาจจะไม่ได้สวย เพราะเฟอร์นิเจอร์ส่วนหนึ่งในรีสอร์ตจะประกอบขึ้นมาเองโดยใช้ไม้ท่อนใหญ่ที่ใกล้ผุผัง ไม่สามารถรองรับน้ำหนักมากๆ ได้ ช่างเฟอร์นิเจอร์ก็จะนำมาแปรรูปเป็นเก้าอี้บ้าง โต๊ะทานข้าวบ้าง ขัดเงาเอาให้เรียบเนียน แม้ไม่สวยมากแต่ผมว่าใช้งานได้สบายเลยครับ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด
ด้วยความที่รีสอร์ตมีความโค้งของปลายแหลมเกาะในหลายจุด ทำให้มีวิวทะเลที่สวยงามหลากหลาย แตกต่างกันไป อย่างมุมนี้มาจากห้องอาหาร ดูแล้วเย็นสบายตา ไม่ต้องเปิดหน้าโล่งๆ เหมือนใคร
ที่นี่แทบจะไม่ตัดต้นไม้เลยครับ ต้นไหนจะตายก็ไม่โค่น ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ และมีการปลูกเพิ่มในหลายจุด ซึ่งเราจะได้ไปชมกัน
ทาร์ซานก็มีนะครับ น้องมากับซิปไลน์จากต้นไม้ต้นนั้นมาสู่ต้นนี้ เพื่อเสิร์ฟประสบการณ์ดีๆ ให้เราที่ Treepod ครับ
มื้อเช้าของเรา ถูกจัดไว้ที่ห้องอาหารไดนิ่งรูม (Dining Room) มีให้เลือกทั้งไลน์อาหารบุฟเฟต์ที่จัดไว้เป็นซุ้ม เครื่องดื่มที่วางเรียงรายโดยเฉพาะ Infused Water หรือจะสั่งจากพนักงานก็ได้ครับ รวมถึงมีอาหารบางจาน เครื่องดื่ม ชา กาแฟ สามารถเลือกจากเมนูได้เลย
เราเลือกโต๊ะที่หันหน้าออกไปยังอ่าวไทย เพื่อดื่มด่ำกับความบริสุทธิ์สดชื่นให้เต็มที่ การได้เริ่มต้นวันด้วยบรรยากาศที่ดี กานต์เชื่อว่า จะทำให้ตลอดทั้งวันนี้เป็น Perfect Day ครับ เช้านี้กานต์เริ่มต้นด้วย Lemon Infused Water ตามด้วยกาแฟครับ
ที่นี่ปลูกต้นกาแฟเองด้วยนะครับ มีทั้งโรบัสต้าและอราบิก้า แต่ว่าผลผลิตยังไม่เป็นที่นี่พอใจ ค่อยๆ พัฒนากันไป ดังนั้น กาแฟส่วนใหญ่จึงยังต้องนำเข้ามาจากนอกเกาะอยู่ครับ
ผักส่วนหนึ่งที่เราทานกันในห้องอาหาร เขาปลูกกันเองภายในรีสอร์ตครับ กานต์เคยเขียนเรื่องเทรนด์ผู้บริโภคจากนี้ไปว่า ลูกค้าจะให้ความสำคัญกับเรื่องของความปลอดภัยในวัตถุดิบและอาหารมากเป็นพิเศษ และต้องการที่จะรู้ว่าอาหารของพวกเขามาจากไหน แหล่งวัตถุดิบของอาหารนั้นมีที่มาอย่างไร มีกระบวนการปรุงอย่างไร เพราะไม่แน่ใจว่าอาหารที่จะรับประทานเข้าไปนั้นจะทำได้อย่างสะอาดและปลอดภัยหรือไม่ ร้านอาหารอาจจะเน้นการสื่อสารตรงจุดนี้เพิ่ม เพื่อสร้างความมั่นใจ เน้นสร้างมาตรฐานการทำงานของทุกแผนกในร้านอาหาร มีการสร้างวัฒนธรรมการฆ่าเชื้อขึ้นมา เพื่อให้แน่ใจว่า ทางร้านสามารถจัดการเรื่องสะอาด ปลอดภัยนี้ได้เป็นอย่างดี
แต่เชื่อไหมครับว่า เรื่องเหล่านี้ Soneva Kiri ทำมาก่อนหน้านี้นานแล้ว
ผักของที่นี่จะปลูกตามฤดูกาล ครั้งนึงปลูกประมาณ 4-5 ชนิด วนไป ปลูกซ้ำกันไม่ได้ เพราะโรคจะมา ส่วนใหญ่จะปลูกผักบุ้ง ต้นอ่อนทานตะวัน ผักสลัด เคล คะน้า กรีนโอ๊ก เรดโอ๊ก แตงกวา ผักกาดขาว โหระพา เล็บครุฑ น้ำเต้า บวบ เตยหอม ตะไคร้หอม เพาะเห็ดเอง โดยการซื้อก้อนเชื้อมา
ช่วงที่เราไปเป็นหน้าฝน ปลูกผักไม่ค่อยสวย ต้องรอหน้าหนาว
ส่วนมะนาวก็มีต้นแม่ไม่กี่ต้น ทางคนสวนก็นำมาตอนกิ่งขยายพันธ์ุเอง พวกนี้โตไม่ยาก เพียงแต่ต้องใช้เวลา เลมอนก็ปลูกและขยายพันธุ์เองเช่นกัน
เดี๋ยวเราจะไปเดินดูสวนผักด้วยครับ นัดพี่เขมเอาไว้แล้ว
No News No Shoes คือ Concept ของที่นี่ ใช้ชีวิตอย่างช้าๆ Slow Life ใกล้ชิดธรรมชาติ ไม่ต้องรับรู้ข่าวสารใดๆ กานต์ว่าเป็นเสน่ห์มากครับ กับการวาง Conceptual ต่างๆ ที่ทาง Soneva Kiri คิดไว้ในการสื่อสารกับผู้เข้าพัก
แน่นอน ตลอดระยะเวลาของการเข้าพักที่นี่ ผมถอดรองเท้าเดินตลอดเลยครับ อยากสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด
อย่างตอนนี้ก็จะเดินเท้าเปล่าเพื่อไปชมป่าและ Eco Centro ครับ
พื้นที่ของ Eco Centro ทั้งหมดประมาณ 10 ไร่ จากพื้นที่รีสอร์ต 400 ไร่ จริงๆ จำนวนพื้นที่ 10 ไร่ สามารถสร้างรีสอร์ตบนเกาะกูดได้อีกแห่งนึงเลยนะ
คุณโซนุ เจ้าของ Soneva Kiri กำชับกับพนักงานทุกคนตั้งแต่เริมต้นสร้างรีสอร์ตว่า ห้ามตัดต้นไม้ในรีสอร์ทของเธอเด็ดขาด หากต้นไหนที่ตายก็ปล่อยให้ตายซากไปเอง ส่วนเศษไม้ที่เกิดจากการตัดแต่งกิ่ง จะถูกนำไปแปรรูปเป็นฟืนเพื่อใช้เป็นพลังงานต่อไป ดังนั้น จงอย่าได้แปลกใจหากบริเวณรอบๆ รีสอร์ทอาจจะดูมีความเป็นธรรมชาติคล้ายกับป่ารก แต่กลับกลายเป็นว่า ต้นไม้เหล่านี้ช่วยทำหน้าที่ปกคลุมรีสอร์ตให้กลายเป็นแหล่งผลิตโอโซนธรรมชาติขนาดใหญ่ไปโดยปริยาย เพื่อให้แขกผู้เข้าพักได้เข้าใจกับความเป็นธรรมชาติของเกาะกูดให้ได้มากที่สุด
ปลูกม่านบาหลีเอาไว้ให้ได้บรรยากาศของการเริ่มต้นผจญภัย เพราะแขกทุกคนสามารถขอให้พนักงานพาเดินชมภายในนี้ได้ครับ
ผมนัดกับพี่เขม-ฐิติพันธ์ พรหมเจียม ผู้จัดการฝ่ายภูมิทัศน์ของรีสอร์ต บอกว่าอยากจะเดินชมพื้นที่รอบๆ อยากฟังเรื่องธรรมชาติของที่นี่ เพราะพี่เขมอยู่มาตั้งแต่ช่วงแรกๆ เป็นคนที่มีภูมิรู้เรื่องต้นไม้ ทั้งไม้ใหญ่ ไม้ดอก ดีมาก
พี่เขมเล่าว่า ต้นไม้ที่นี่ซื้อมาไม่แพง แต่ค่าขนส่งข้ามเกาะแพง ดังนั้น จึงต้องซื้อมาต้นแม่พันธุ์มาไม่กี่ต้น จากนั้นก็เอามาเพาะขยายพันธุ์เอง มีทั้งไม้ดอก ไม้ประดับในการปลูกประดับในวิลล่า ซึ่งใช้จำนวนมาก
เชื่อไหมครับว่าในรีสอร์ตขนาดใหญ่กว่า 400 ไร่แห่งนี้ แทบไม่มีการตัดต้นไม้เลย ไม้ที่ใช้ก่อสร้างโครงสร้างนำเป็นสนที่เข้าจากฟาร์มที่นิวซีแลนด์ ที่สำคัญยังปลูกต้นไม้ใหญ่เข้าไปเพิ่ม ทำสวน ปลูกผัก ผลไม้ ไว้รับประทานภายในรีสอร์ต จัดการระบบน้ำเสีย การนำพลังงานไบโอดีเซลกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การจัดการระบบนิเวศน์ภายในรีสอร์ตมีครบทั้ง Reduce-Reuse-Recycle จนกลายมาเป็น “Eco Centro” เพื่อการอยู่อาศัยร่วมกับธรรมชาติแวดล้อมอย่างยั่งยืน จนได้รับรางวัล World Travel and Tourism Council’s ‘Tourism for Tomorrow Award มาแล้ว
แต่คราวนี้จะเป็นขั้นกว่าของ Eco-Friendly ที่ผมอยากยกให้ Soneva Kiri เป็น Forrest-Friendly มากกว่า
พื้นที่ของรีสอร์ตประมาณ 400 ไร่ ที่นี่เป็นป่าเดียวกับเขาใหญ่ ใช้ตำราเล่มเดียวกันในการศึกษาภูมิศาสตร์ เป็น tropical forrest พันธุ์ไม้ที่เขาใหญ่เอามาเทียบที่นี่ได้
แต่ก่อนเป็นป่ายางพารา จะพบว่ายังมีสวนยางอยู่ ก็ค่อยๆ ปรับพื้นที่ไป ที่นี่ไม่ค่อยได้ตัดไม้ ยังปล่อยให้โตไปตามธรรมชาติ เพื่อให้มีลักษณะเป็นป่าเหมือนเดิม พี่เขมเล่าว่า ต้นยางพาราบนเขาบางต้นใหญ่มาก
ผมถามพี่เขมว่า “เคยนับต้นไม้ ดอกไม้ ว่ามีกี่พันธุ์”
พี่เขมบอกว่าเคยเหมือนกัน แต่ก็ลำบากเพราะมันเยอะ บางต้นก็เป็นไม้ป่าซึ่งไม่รู้จัก ต้องไปเปิดหนังสือเยอะแยะมีทั้งไม้กรันเกา เป็นไม้เนื้อแข็งใช้สร้างบ้านได้ รูปทรงเป็นพุ่ม กิ่งก้านไม่เยอะ ดอกมีกลิ่นหอม เป็นไม้ประจำถิ่นของเกาะกูด
มีต้นกระบก เป็นไม้ใหญ่ เป็นไม้ประดับ ลูกทานได้เหมือนลูกนัท เอามาคั่ว ส่วนต้นเสม็ดแดง เป็นไม้ลีลา ที่โค้งไป สำหรับปลูกในแนวน้ำตก
พี่เขมเล่าให้ฟังอย่างสนุกสนาน
ที่เกาะกูดเป็นป่าร้อนชื้น มีตะไคร้ มอส มีความชื้นสูง เพราะปริมาณน้ำฝนเยอะ เมื่อวันก่อนที่เราจะเข้าพักใรตกหนักมาก วัดได้ถึง 138 มิลลิเมตร
“เกาะกูดนี่น่าจะฝนเยอะที่สุดในประเทศไทย” – พี่เขมเล่า
นี่มีมีสวนไผ่ของตัวเองครับ ปลูกกันเป็นล่ำเป็นสันเพราะเป็นไม้หลักในการใช้ปรับปรุงรีสอร์ต มีด้วยกันหลายสายพันธุ์ ใครสนใจก็เดินเข้ามาชมด้านในได้ครับ
ผมเองก็ได้รู้เรื่องไผ่เยอะเลยครับ หลังจากกินเป็นแต่หน่อไม้ไผ่ จดเลคเชอร์มาได้ประมาณนี้
ไผ่รวก ลำต้นเป็นกระจุกไม่ยอมทิ้งกาย ลำต้นขึ้นตรง เนื้อตัน เอาไว้ทำไม้ซ่อมพื้น ทางเดิน ซ่อมผนัง
ไผ่เลี้ยง นิยมปลูกเป็นไผ่ประดับบ้าน หน่อทานได้ รสหวาน จะเอามาทำเป็นแนวรั้ว
ไผ่ตง ลำต้นใหญ่เอามาทำเสาโรงจอดรถบัคกี้
คุณโซนุ กับคุณเอวา ต้องการให้แขกที่มาพักที่นี่มีความร่มรื่นเวลามาพักที่นี่เลยมีโครงการปลูกไผ่ปกคลุมถนนภายในรีสอร์ตทุกเส้น เป็นอุโมงค์ไผ่ ไปทางไหนก็จะเย็นไม่ร้อน ที่เลือกปลูกต้นไผ่ เพราะสามารถเอามาใช้งานต่อในการซ่อมวิลล่าได้ ถ้าปลูกไม้อย่างอื่นก็ใช้ประโยชน์ต่อไม่ได้ ปลูกไผ่เพราะงอกใหม่ได้เรื่อยๆ โตไว
“สวนจะรกๆ หน่อยนะ” พี่เขมออกตัว
ที่นี่จะผักปลูกตามฤดูกาล และต้องมีการปรับวิธีการปลูกเล็กน้อยเพราะดินค่อนข้างเค็ม มีการขึ้นนั่งร้านไว้ให้พวกไม้เลื้อยด้วย และยังทำเป็นทางเดินแบบไม่ร้อนได้อีกทางหนึ่ง
บรรยากาศของ Eco Centro ซึ่งแบ่งออกเป็นโซนๆ ต่างเป็นไปด้วยความเรียบง่าย เราอาจจะไม่ได้เห็นแปลงเกษตรที่ตรงกันเป๊ะ เพราะที่นี่ปล่อยให้ธรรมชาติได้ทำหน้าที่ของมันเอง โดยมีมนุษย์เราคอยดูแล เพื่อให้เกิดสมดุลย์ บางทีต้นหม่อน หรือมัลเบอร์รี่ก็มาอยู่ใกล้กับต้นกล้วย ถัดไปด้านในเป็นต้นโกโก้ที่กำลังเริ่มปลูก
ที่นี่ปลูกทั้งผัก ผลไม้ อย่างเสาวรสก็มี 2 สายพันธุ์ คือเหลืองจะให้รสเปรี้ยว กับสีม่วงจะหวานกว่า มีชมพู่ทับทิมจันทร์ กล้วยหอมทอง ฝรั่ง สัปปะรดตราดสีทอง
ทุเรียนก็มีแต่ฝรั่งไม่ค่อยชอบ ทุเรียนกับขนุนเพราะมีกลิ่นแรง จึงต้องปลูกมะม่วงแซมบ้างเพราะฝรั่งชอบ มีทั้ง เขียวเสวย น้ำดอกไม้ พิมเสน อกร่อง มะม่วงเบา เอามาจากใต้ พริก ต้นอโวคาโด้ กำลังจะเริมออกลูก ต้นม่อน ซื้อต้นพันธุ์มาจากกรุงเทพ เอามาแค่ไม่กี่ต้น ตอนนี้ขยายไปทั่วรีสอร์ตแล้ว ผลม่อนนำมาทำไอศกรีม น้ำมัลเบอรี่
ความที่เกาะกูดเป็นป่าร้อนชื้น ปลูกอะไรก็เน่าง่าย ดังนั้นพี่เขม จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการยกพื้นขึ้นมานิดนึง ปลูกเว้นระยะเป็นล็อคๆ เพื่อไม่ให้ฉ่ำน้ำตลอดเวลาเพราะจะขาดอ๊อกซิเจน ทำให้รากเน่า
ดินที่ใช้ปลูกผักและต้นไม้ ดอกไม้ที่นี่ จะไม่ใช่ดินเดิม เนื่องจากที่นี่ภูมิศาสตรเป็นลักษณะเขาที่มีความชัน เมื่อฝนตกลงมา น้ำจะชะล้างแร่ธาตุออกไปจนแทบไม่เหลือจึงต้องมีการปลูกปลูกต้นกระดุมทอง (มีลักษณะคล้ายวัชพืช แพร่ไปทั่วรีสอร์ต) ช่วยทำหน้าที่คลุมหน้าดินไม่ให้ดินสไลด์ อีกจำพวกคือแว่นแก้ว
ส่วนดินด้านล่างจะมีแร่สนิม ตามลักษณะดินภูเขา มีความเป็นกรด ปลูกอะไรก็ไม่ค่อยขึ้น จึงต้องมีการนำดินจากที่อื่นมาปรุง แล้วปลูกโดยการยกพื้น ต้องมีการปรับปรุงคุณภาพของดินให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทายมากที่จะปลูกให้ได้ครับ
ผักที่นี่ไม่มีสารเคมีแต่มีความออร์แกนิกส์ครับ แต่ใส่ปุ๋ยที่ได้มาจากเศษขยะในแผนกครัว ซึ่งมีมากกว่า 5,000 กิโลกรัมต่อเดือน ขยะสดเหล่านี้ถูกนำไปแปรสภาพกลายเป็นปุ๋ยหมัก เพื่อนำไปใช้บำรุงพืชผัก ผลไม้ที่ปลูกภายในรีสอร์ต นอกจากจะ ได้ผักผลไม้ที่มาจากธรรมชาติ แถมยังประหยัดหยัดงบประมาณในการซื้อปุ๋ยอีกด้วย
ต้นอ่อนทานตะวันที่เราทานกันในรีสอร์ตจะปลูกในโรงเรือนแบบปิด
ที่นี่ปลูกต้นกาแฟเอง มีทั้งโรบัสต้าและอราบิก้า มีโกโก้ที่ปลูกมานานแล้ว ส่งไปให้ครัวทำช็อกโกแลต ทำขนม แต่ก็ยังไม่พอจึงต้องนำเข้ามาเพราะว่า ที่นี่มีห้องช็อคโกแลตให้ทานฟรีที่ So Guilty เท่านี้ยังไม่พอ ได้เพิ่มช่วงเวลา Afternoon Tea ให้ทานฟรีอีกในทุกวัน ถ้าคิดตังค์ออกมาก็หลายอยู่นะผมว่า แต่นี่เป็น complimentary จากทางรีสอร์ตครับ
ส่วนต้นม่อนก็ปลูกเอามาทำเป็นไอศกรีมให้ทานฟรีที่ So Chilled และนำไปทำเป็นน้ำมัลเบอรี่ให้แขกดื่มด้วยครับ
กลับถึงบ้านไป คงต้องบอกลาตาชั่งสักแปบ รับไม่ได้ กินเก่งเกิ้นนนนน 5555
มีห้องอาหารในสวน color of the garden ให้แขกได้ทานข้าวท่ามกลางสวนผักซึ่งแขกจะเด็ดวัตถุดิบสดๆ ซึ่งมี ณ เวลานั้น จากต้น เอาไปให้เชฟมาปรุงให้ทาน (ที่อื่นก็มีแต่ทำได้ไม่เท่า) อยากทานอะไรก็เด็ดให้เชฟได้เลย
มีส่วนของบาร์บีคิวในสวนด้วยครับ ล้อมวงย่างบาร์บีคิวทานกับครอบครัวเพื่อนฝูงได้เลย บรรยากาศดีมาก
ที่นี่เลี้ยงไก่ไข่เอง เก็บไข่จากฟาร์มไก่อารมณ์ดี ไก่ที่นี่จะมีวิลล่าส่วนตัว ปล่อยให้เดินเล่นตามธรรมชาติ จากนั้นก็ส่งไข่เข้าไปที่ครัวทุกเช้าเลยครับ รับประทานกันสดๆ
พี่เขมคิดอยากจะเลี้ยงสัตว์ ว่าจะเอาแพะหรือแกะมาเลี้ยง เพราะจะได้ช่วยเล็มหญ้า แต่ด้วยความที่เลี้ยงแล้วต้องจำกัดบริเวณ ซึ่งผิดคอนเซปต์จึงยังเป็นเพียงโครงการในฝัน
บริเวณ Eco Centro มีพื้นที่มากกว่า 3 ไร่ ก่อนหน้านี้เป็นที่ทิ้งขยะ ก่อนจะพัฒนามาเป็นศูนย์บริหารจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการขยะ คัดแยกให้เกิดการนำกลับไปใช้ได้ใหม่ หรือนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ขยะส่วนหนึ่งในนำไปขายให้กับโรงแยกขยะบนเกาะกูดและได้เงินกลับมา
อย่างกล่องโฟมและบรรจุภัณฑ์จากภายนอก ก็นำมาทำเป็นหลังคาโรงเรือน ขวดนำมาทำเป็นบาร์และเก้าอี้ เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีวัสดุเหลือทิ้งเลยครับ
ที่นี่มีเครื่องผลิตน้ำมันไบโอดีเซลใช้กับรถแทรกเตอร์ รถตัดหญ้า โดยมาจากน้ำมันที่เหลือทิ้งมาจากครัว และน้ำมันเก่าที่ชาวบ้านในชุมชนเอามาขายให้
ในรีสอร์จะมีร่องน้ำที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เพราะต้นไม้จะกักเก็บน้ำไว้จากฝน จากนั้นก็จะไหลเป็นลำธารเล็กๆ ทั่วรีสอร์ต ทำให้บรรยากาศดีมาก
ส่วนบ่อน้ำดี มีด้วยกัน 2 บ่อที่อีโคเซ็นเตอร์ กับอีกบ่อที่ซีเนม่า พาราดิโซ่ ที่เราดูหนังกลางแปลงกันนั่นแหละครับ บ่อจะขุดลงไปลึกมาก เพื่อจะได้ประหยัดเนื้อที่
น้ำที่นำมาใช้ในรีสอร์ต เป็นบ่อน้ำฝนและน้ำจากบาดาลนำมากักรวมกันไว้ที่บ่อนี้ เนื่องจากน้ำบาดาลจะมีสนิมและธาตุเหล็ก จึงต้องทำปฏิกริยาอ๊อกซิเดชั่นก่อน จากนั้นจึงจะปั้มไปผลิตเป็นน้ำใช้ในรีสอร์ต
Soneva Kiri เป็นรีสอร์ตใหญ่แต่ไม่เคยมีปัญหาน้ำไม่พอใช้ เลยครับ ทำให้ไม่เคยต้องซื้อน้ำจากด้านนอก
ขณะที่การบริหารจัดการของเสียต่างๆ มีการนำไปบำบัดใหม่โดยไม่ทิ้งลงทะเลให้กลายเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม (Waste-to-Wealth) น้ำเสียทั้งหมดที่เกิดขึ้นในรีสอร์ตจะถูกนำมาบำบัดด้วยอ๊อกซิเจนจุลินทรีย์ที่มีคุณภาพหรือ EM ในบ่อชีวภาพขนาดใหญ่ 4 แห่ง ที่มีระดับการกรองต่างกัน จนทำให้กลายเป็นน้ำดีที่สามารถนำกลับไปใช้รดน้ำต้นไม้และเลี้ยงปลาได้
จากการเดินทางไปพักผ่อนตามโรงแรมรีสอร์ตต่างๆ มาทั่วโลกของผม น้อยมากที่จะได้เห็นวิธีการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเช่น Soneva Kiri นี้ ผมเชื่อว่า Soneva Kiri น่าจะเป็นหนึ่งในรีสอร์ตไม่กี่แห่งในโลกที่เน้นความยั่งยืนและนำไปใช้อย่างจริงจังทั่วทั้งรีสอร์ต
Soneva Kiri จึงนับเป็นประสบการณ์ชั้นเยี่ยมที่นำเสนอเรื่องราวความ Intelligent Luxury ได้อย่างไม่มีที่ติ การเดินทางมาที่นี่ในแต่ละครั้งผมจะได้ประสบการณ์ดีๆ ติดกระเป๋าขึ้นเครื่องกลับไปเสมอเลยครับ แต่ทริปนี้น่าจะเจาะลึกเรื่องราวสิ่งแวดล้อมมากที่สุดแล้ว
ไว้ปีหน้าเจอกันใหม่นะ Soneva Kiri ปีหน้าก็ยังต้องมีอะไรให้เขียนถึงอีกแน่นอน ก็เรื่องราวเค้าเยอะมากจริงๆ ครับ
สอบถามข้อมูลและจองห้องพักได้ที่
+66 (0) 82208-8888
หรือ Line ID @discoversoneva