หลายคนคงรู้จักร้านหนังสือสัญชาติญี่ปุ่นที่ชื่อว่าคิโนะคุนิยะ (Kinokuniya)
แต่หลายคนไม่รู้ว่าก่อนจะมาเป็นร้านหนังสือชื่อคิโนะคุนิยะนั้น
เดิมเคยเป็นชื่อร้านขายถ่านมาก่อน!!!
ย้อนกลับไปเมื่อ 90 ปีที่แล้วประมาณปีค.ศ. 1927 ร้านหนังสือคิโนะคุนิยะ เปิดให้บริการครั้งแรก
เจ้าของร้านคือคุณโมะอิจิ ทานะเบะ ได้นำชื่อกิจการร้านขายถ่านของพ่อมาตั้งเป็นร้านหนังสือ
แต่หลังจากที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ญี่ปุ่นในปีค.ศ. 1923 เขาก็ย้ายมาอยู่ที่โตเกียว
แล้วเปลี่ยนตัวเองจากร้านขายถ่าน มาทำร้านหนังสือ
ก่อนจะมาเป็นร้านหนังสือใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นที่มีสาขาไปทั่วโลกนั้น
แรกเริ่มเดิมที คิโนะคุนิยะ เป็นเพียงร้านตึกไม้ที่เปิดขายหนังสือแค่ชั้นล่างโดยมีพนักงานทั้งสิ้น 5 คน
18 ปี ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นถูกเครื่องบินของสหรัฐฯ ทิ้งระเบิด
จนทำให้เจ้าของถอดใจ
เพราะในภาวะสงคราม คงไม่มีใครมีกะจิตกะใจอ่านหนังสือกันหรอก
แต่ก็กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งใน 2 ปีต่อมา
ปัจจุบันสาขาแรกที่ชินจุกุพัฒนาจากตึกไม้ 2 ชั้น มาเป็นตึกใหญ่ 11 ชั้น
ขยายสาขาไปทั่วญี่ปุ่นมี 68 สาขา และอีก 30 สาขาทั่วโลก
รวมถึงที่ประเทศไทยด้วย
สำหรับในประเทศญี่ปุ่น คิโนะคุนิยะสาขาที่ใหญ่ที่สุดคือสาขาฟุกุโอกะมีขนาด 3,500 ตารางเมตร
ส่วนที่ต่างประเทศ คือที่ ดูไบ มีพื้นที่ใหญ่โตถึง 5,940 ตารางเมตร
ใหญ่กว่าแพลนนารี่ฮอลล์ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เกือบเท่าตัว!!
ขณะที่ในอาเซียน สาขาที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่สิงคโปร์ บนห้าง Takashimaya มีขนาดพื้นที่ 4,000 ตารางเมตร
ความโดดเด่นของร้านหนังสือคิโนะคุนิยะ
ก็คือความใหญ่โตโอ่โถงของร้านและความครบครันของหนังสือ
เพราะต้องการให้หนังสือเป็นสื่อกลางในเชื่อมต่อกันระหว่างผู้อ่านกับผู้เขียน
ตั้งใจที่จะทำให้คิโนะคุนิยะ มีหนังสือที่ผู้อ่านทุกคนต้องการ
สามารถค้นหาหนังสือที่ตัวเองต้องการอ่านได้ที่นี่ ที่แรกและที่เดียว
ซึ่งในเมืองไทยถ้าหากเคยใครไปที่สยามพารากอนหรือที่เอ็มควอเทียร์
คงจะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศของร้านหนังสือขนาดใหญ่ที่นับวันจะไม่ค่อยพบมากนัก
ในยุคที่ผู้คนหันมาอ่านหนังสือหรือข้อความสั้นจากเครื่องมือสื่อสารแทน
คิโนะคุนิยะ ในญี่ปุ่นจะวางขายหนังสือทุกหัวปนกัน ทั้งหนังสือขายดี หนังสือที่ขายไม่ค่อยได้
ส่วนสาขาที่ต่างประเทศอาจจะมีคอนเซปต์ที่ต่างไปบ้าง
เนื่องจากจะต้องมีการคัดสรรหนังสือเข้าร้านให้ละเอียดพอสมควร
รวมไปถึงการเพิ่มเซกชั่นสำหรับการขายหนังสือที่เป็นภาษาท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ
ดังนั้น คิโนะคุนิยะ สาขาต่างประเทศ จะมีทั้งหนังสือภาษาญี่ปุ่น หนังสือภาษาอังกฤษ และหนังสือภาษาท้องถิ่น
นอกจากทำร้านหนังสือแล้วคิโนะคุนิยะ ยังผันไปทำสำนักพิมพ์ด้วย
เน้นจัดพิมพ์ผลงานในตำราวิชาการหรือเรื่องแปลที่มีความเข้มข้น
เพื่อสะท้อนถึงความเป็นศูนย์รวมของผู้รักการอ่านตัวจริง
ร้านคิโนะคุนิยะ เปิดสาขาแรกในไทยที่ห้างสรรพสินค้าอิเซตัน (เซ็นทรัลเวิล์ด) เมื่อปีพ.ศ.2535
ต่อมาปีพ.ศ.2540 เปิดสาขา 2 ที่ห้างสรรพสินค้าดิเอ็มโพเรียม
วางคอนเซ็ปต์ให้เป็น ร้านหนังสือภาษาอังกฤษที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ
อีก 8 ปีต่อมา เปิดสาขาใหม่ที่สยามพารากอน
และมีการปรับปรุงร้านใหม่ในห้างดิเอ็มควอเทียร์ โดยย้ายมาจากฝั่งดิเอ็มโพเรี่ยม
อย่างไรก็ดี ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้บรรยากาศของการซื้อหนังสือมีการปรับเปลี่ยนตาม
ผู้คนหันมานิยมอ่านหนังสือออนไลน์ (อีบุ๊ค) เพิ่มมากขึ้น
รวมทั้งการสั่งหนังสือแบบเล่มผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ
ทำให้ร้านหนังสืออย่างคิโนะคุนิยะ ก็ต้องปรับตัวตามกระแสให้ทัน
ทั้งอีบุ๊ค และ อีคอมเมิร์ช
หนทางรอดของ “ร้านหนังสือ” คือ การปรับโมเดลธุรกิจเป็น “Omni-channel”
เชื่อมโยงระหว่างโลกออนไลน์ และออฟไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางหน้าร้านเข้าด้วยกัน
ต้องยกระดับให้เป็นมากกว่าการขายหนังสือ
ปรับร้านให้มีความเป็น “ไลฟ์สไตล์” มากขึ้น เพื่อสร้าง “Customer Experience”
การปรับร้านให้เป็น “พื้นที่ขายประสบการณ์” จะดึงดูดคนให้เข้ามาเดินในร้านมากขึ้น
ปัจจุบัน คิโนะคุนิยะ เป็นร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น
ท่ามกลางสังคมที่ผู้คนนิยมการอ่านกันมาก ญี่ปุ่นเลยเป็นประเทศที่มีคนชอบเขียนมาก
และจึงมีผู้ผลิตหนังสือออกมามาก
ญี่ปุ่นก็เลยมีหนังสือดีๆให้ได้อ่านกันทุกแขนง
ผู้คนก็พัฒนาความคิดขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะมีทั้งคนอ่าน คนเขียนและคนคิด
น่าอิจฉาครับ
นี่อาจจะเป็นข้อดีข้อเดียวละมั้ง ของการเป็นคนไม่เอาถ่าน
… แล้วหันมาเอาดีด้านหนังสือแทน