รวมข้อมูลการใช้สนามบินสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ที่จอดรถยันเข้าเกท

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จุดศูนย์รวมของนักเดินทางที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย เป็นสนามบินแห่งความภาคภูมิใจของคนไทยที่สวยงาม ทันสมัย และยิ่งใหญ่ จนอาจเรียกได้ว่าสุวรรณภูมิ คือมหานครย่อมๆ ของเหล่านักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลก แต่ด้วยความใหญ่โตมโหฬารของสนามบินแห่งนี้เองก็อาจจะทำให้คุณประสบปัญหากับความไม่คุ้นชินในการใช้บริการ และหลงได้ง่ายๆ โดยเฉพาะก่อนเข้าเกตที่ไม่มีใครให้คุณถามว่าต้องไปตรงไหนและทำอย่างไร! แต่ไม่เป็นไร “กานต์เดินทาง” และ Skyscanner มาช่วยคุณให้เข้าเกทได้อย่างสบายใจแล้วครับ

ภาพจาก http://www.bangkokairportonline.com/

การเดินทางเข้าสู่สนามบิน

การเดินทางไปสนามบินสุวรรณภูมินั้นมีหลายรูปแบบ แต่สำหรับผู้ที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวนั้นจะมีถนนอยู่ 2 เส้นทางหลักที่คุณใช้บริการได้ดังนี้

1. ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (กรุงเทพ-ชลบุรี สายใหม่) หรือที่เรียกกันว่ามอเตอร์เวย์ เส้นทางนี้ถือเป็นถนนสายหลักที่ตรงถึงหน้าประตูอาคารผู้โดยสารทางทิศเหนือของสนามบิน เหมาะสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ (ถนนพระราม 9 หรือทางพิเศษศรีรัช) จากภาคเหนือ (ถนนกาญจนาภิเษก บางนา-บางปะอิน) จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ทางหลวงหมายเลข 304 ฉะเชิงเทรา-นครราชสีมา) และจากภาคตะวันออก (มอเตอร์เวอร์ ชลบุรี-พัทยา)

2. ทางพิเศษบูรพาวิถี (ถนนบางนา-ตราด) เป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่ตรงเข้าสู่สนามบินจากทางทิศใต้ โดยจะผ่านถนนเลียบรันเวย์สนามบินฝั่งตะวันออก ก่อนบรรจบเข้าสู่ทางต่างระดับเพื่อเข้าอาคารผู้โดยสารทางทิศเหนือจากมอเตอร์เวย์ เหมาะสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากสมุทรปราการหรือชลบุรี (ถนนบางนา-ตราด) จากรุงเทพฯ (ถนนสุขุมวิท หรือทางพิเศษเฉลิมมหานคร) และจากภาคใต้ (ถนนกาญจนาภิเษก บางนา-พระราม 2)

อาคารที่จอดรถของสนามบินสุวรรณภูมิ

สนามบินสุวรรณภูมิให้บริการจอดรถตลอด 24 ชั่วโมง รองรับรถได้รวมมากกว่า 6,000 คัน โดยแบ่งพื้นที่จอดรถออกเป็น 2 ส่วนดังนี้

พื้นที่จอดรถหน้าอาคารผู้โดยสาร ประกอบด้วยอาคารจอดรถ 6 ชั้น 2 อาคาร (Zone 2 และ 3) มีทางเชื่อมตรงเข้าสู่ชั้น 3 ของอาคารผู้โดยสารอย่างสะดวกสบาย และยังมีลานจอดรถกลางแจ้งด้านข้างอาคารจอดรถอีก 2 ลานจอด (Zone 1 และ 4) คิดอัตราค่าจอดรถสูงสุดวันละ 250 บาท โดยที่จอดรถนี้คุณสามารถเดินทางมาจอดรถได้จากทางแยกต่างระดับก่อนเข้าสู่อาคารผู้โดยสาร ซึ่งคุณจะเห็นที่จอดรถนี้หน้าอาคารผู้โดยสารเลย และยังเป็นที่จอดรถที่ใกล้อาคารผู้โดยสารมากที่สุด เหมาะสำหรับคนที่ต้องรีบเข้าไปใช้บริการ แต่ก็มีราคาค่าจอดรถแพงที่สุดเช่นกัน

พื้นที่จอดรถระยะยาว ประกอบด้วยลานจอดรถกลางแจ้งขนาดใหญ่ 2 ลานจอด ตั้งอยู่ตรงข้ามกับศูนย์การขนส่งสาธารณะบริเวณพื้นที่ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของสนามบิน โดยจะมีรถชัตเทิลบัสรับ-ส่งถึงอาคารผู้โดยสารฟรี คิดอัตราค่าจอดรถสูงสุดวันละ 140 บาท หากคุณมาจากเส้นทางพิเศษบูรพาวิถี หรือถนนบางนา-ตราด ก็จะผ่านลานจอดรถระยะยาวก่อนขึ้นสู่ทางต่างระดับเข้าอาคารผู้โดยสาร หากมาจากทางทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์) เมื่อเข้าสู่ทางต่างระดับเข้าพื้นที่สนามบินแล้วให้ชิดซ้ายลงทางแยกต่างระดับแรก ซึ่งจะมีป้ายบอกอย่างชัดเจน แต่หากจะใช้บริการลานจอดรถระยะยาว ควรเผื่อเวลาเดินทางอีกอย่างน้อย 30 นาทีสำหรับการรอและเดินทางต่อเข้าสู่สนามบิน

อัตราค่าจอดรถสนามบินสุวรรณภูมิ

จะเห็นได้ว่าสนามบินสุวรรณภูมิคิดค่าจอดรถเป็นชั่วโมง และ เศษของชั่วโมงก็จะคิดเป็น 1 ชั่วโมง เช่นเดียวกับการจอดรถในศูนย์การค้าโดยทั่วไป แต่จะคิดค่าจอดรถตามลำดับขั้นใหม่ทุกวัน เช่นคุณจอดรถในพื้นที่จอดหน้าอาคารผู้โดยสารตั้งแต่เวลา 13:00 น. ถึง 17:00 น. ของวันรุ่งขึ้น ก็จะคิดค่าจอดรถ 360 บาท ตามเวลาจอด 1 วัน (250 บาท) กับอีก 4 ชั่วโมง (110 บาท)

อย่าลืม! เก็บบัตรจอดรถไว้กับตัวในที่ปลอดภัยเสมอ อย่าทำหายระหว่างเที่ยวเชียวล่ะ ไม่งั้นจะโดนปรับและต้องหาเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของรถให้วุ่นวายจนหมดสนุกแน่นอน

ที่จอดรถในสนามบินสุวรรณภูมิ ควรจอดรถที่ไหนดี

จะจอดรถที่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับว่าคุณเผื่อเวลาในการเดินทางไว้มากแค่ไหน เพราะทั้ง 2 ที่จอดรถนั้นไม่มีข้อจำกัดว่าต้องจอดรถได้ไม่เกินกี่วัน หรือต้องจอดเกินกี่วันขึ้นไป หากคุณเผื่อเวลาในการเดินทางมากก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ด้วยการใช้พื้นที่จอดรถระยะยาว ซึ่งมีรถชัตเทิลบัสสาย A ซึ่งวิ่งรับ-ส่งในพื้นที่ลานจอดรถระยะยาว 4 จุดเข้าสู่อาคารผู้โดยสาร ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีความถี่ของรถดังนี้

หากต้องการเร่งด่วนกว่านี้ก็สามารถเดินขึ้นรถชัตเทิลบัสสาย Express ซึ่งมีรอบรถถี่กว่าสาย A และไม่มีจุดแวะรับ-ส่งระหว่างทางจากศูนย์การขนส่งสาธารณะถึงอาคารผู้โดยสาร ดังนั้นสำหรับการใช้พื้นที่จอดรถระยะยาว คุณจำเป็นต้องเผื่อเวลาเพิ่มอีกประมาณ 30-60 นาทีในการเดินทาง แต่ถ้าหากคุณมีเวลาไม่เพียงพอก็ต้องใช้พื้นที่จอดรถหน้าอาคารผู้โดยสาร ซึ่งใช้เวลาเดินเท้าเข้าอาคารเพียง 2-3 นาทีเท่านั้น แต่ก็ต้องแลกกับค่าจอดรถที่แพงกว่าด้วยเช่นกัน

เช็คอินที่สนามบินสุวรรณภูมิ

เช็คอินตรงไหน

หลังจากที่คุณจอดรถเสร็จเรียบร้อยแล้ว (หรือเดินทางมาด้วยระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ) คุณก็จะเข้าสู่อาคารผู้โดยสารของสนามบินซึ่งเคยติดอันดับอาคารผู้โดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาแล้ว และความใหญ่กับความหลงมักจะเป็นของคู่กันเสมอ! ดังนั้นข้อควรจำแรกสำหรับการมาใช้บริการที่สนามบินแห่งนี้คือ เคาน์เตอร์เช็คอินทั้งหมด อยู่ที่ชั้น 4 ของอาคารผู้โดยสาร ซึ่งเป็นชั้นที่มีถนนต่างระดับเทียบด้านหน้าอาคารนั่นเอง

อาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ จะไปซ้ายหรือขวาดี

ภายในชั้น 4 ของอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมินั้นแบ่งออกเป็น 2 ฝั่งด้วยกัน เมื่อคุณหันหน้าเข้าอาคาร ฝั่งซ้าย (1) ของคุณจะเป็นฝั่งทางเข้าอาคารเทียบเครื่องบินของผู้โดยสารในประเทศ ส่วนฝั่งกลาง (2) จนถึงฝั่งขวา (3) จะเป็นทางเข้าของผู้โดยสารระหว่างประเทศ ส่วนเคาน์เตอร์เช็คอินบางสายการบินอาจจะไม่ตรงกันกับทางเข้าโซนนัก แต่เคาน์เตอร์เช็คอินของการบินไทยและบางกอกแอร์เวย์ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเที่ยวบินในประเทศหลักของสนามบินนี้ก็อยู่ฝั่งซ้ายทั้งหมด

เคาน์เตอร์เช็คอินของสายการบินต่างๆ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ

เคาน์เตอร์เช็คอินและโหลดกระเป๋าขึ้นเครื่องของสนามบินสุวรรณภูมินั้นมีทั้งหมด 20 แถว เรียงลำดับจากซ้ายไปขวาตั้งแต่ A-W (ไม่มีแถว I / O / V) โดยสนามบินจะมีหน้าจอขนาดใหญ่ระบุแถวเช็คอินของแต่ละเที่ยวบินที่กำลังจะเดินทางในช่วงนี้ ซึ่งคุณจำเป็นต้องตรวจสอบรายละเอียดจากหน้าจอก่อนเข้าเคาน์เตอร์ให้ถูกต้อง แต่ก่อนอื่นเรามาดูก่อนว่าสายการบินอะไรอยู่แถวที่เท่าไหร่เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหากัน

อย่าลืม! เช็คหมายเลขเคาน์เตอร์เช็คอินที่หน้าจอแสดงรายการเที่ยวบินก่อนใช้บริการจริงทุกครั้ง เนื่องจากตำแหน่งแถวหรือหมายเลขเคาน์เตอร์ของสายการบินอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามการบริหารจัดการของสนามบิน

โหลดกระเป๋า

ปกติแล้วช่องเช็คอินและโหลดกระเป๋านั้นคือช่องเดียวกัน ยกเว้นแต่ในกรณีสายการบินใหญ่ที่อาจมีการแบ่งแยกช่องสำหรับผู้โดยสารแบบหมู่คณะ (กรุ๊ปทัวร์) กับผู้โดยสารที่ยังไม่ได้เช็คอิน และผู้โดยสารที่เช็คอินแล้วผ่านหน้าเว็บไซต์หรือตู้อัตโนมัติออกจากกัน หากมีการแบ่งช่องแบบนี้ ใครที่เช็คอินมาก่อนแล้วก็ต่อแถวช่องโหลดกระเป๋าแล้วเดินตัวปลิวผ่านด่านตรวจหนังสือเดินทางแล้วเข้าเกตได้ทันที ส่วนใครที่ยังไม่ได้ทำอะไร ก็ต่อให้ตรงตามเคาน์เตอร์ที่สายการบินจัดให้เพื่อความรวดเร็วในการใช้บริการ

อย่าลืม! ห้ามใส่แบตเตอรี่เสริมหรือวัตถุที่ติดไฟได้ในกระเป๋าที่จะโหลดใต้ท้องเครื่องเป็นอันขาด เดี๋ยวกระเป๋าถูกกักไปไม่ถึงปลายทางไม่รู้ด้วยนะ

กระเป๋าโหลดขึ้นเครื่องโดยทั่วไปมักจะเป็นขนาด 16-22 นิ้ว น้ำหนักกระเป๋าหรือสัมภาระที่ให้นำขึ้นเครื่องได้มักจะไม่เกิน 7-10 กิโลกรัม แล้วแต่นโยบายของแต่ละสายการบิน

ประเภทกระเป๋าเดินทางต่างๆ

ข้อมูลขนาดกระเป๋าเดินทางล้อลากไซส์ต่างๆ

ขนาดกระเป๋าเดินทางแบบมีล้อลาก ทั้งขึ้นเครื่องได้และขนาดกระเป๋าโหลดใต้เครื่อง มีขนาดต่างๆ กันในท้องตลาดตามนี้

•กระเป๋าเดินทางมีล้อลากขนาด 16 นิ้ว

•กระเป๋าเดินทางมีล้อลากขนาด 18 นิ้ว

•กระเป๋าเดินทางมีล้อลากขนาด 22 นิ้ว

•กระเป๋าเดินทางมีล้อลากขนาด 24 นิ้ว

•กระเป๋าเดินทางมีล้อลากขนาด 26 นิ้ว

•กระเป๋าเดินทางมีล้อลากขนาด 28 นิ้ว

บ่อยครั้งที่เราเดินทางขึ้นเครื่องบินในประเทศ หรือจะเป็นต่างประเทศ มักจะมีคำถามว่าถือกระเป๋าขึ้นเครื่องบินได้หรือไม่ แล้วจะพกสัมภาระขึ้นเครื่องได้ด้วยน้ำหนักกี่กิโลกรัม และโดยส่วนมากคนไทย มักจะถือกระเป๋าขึ้นเครื่อง มาดูกันว่าแต่ละสายการบิน ไม่ว่าจะเป็น AirAsia Nokair LionAir หรือสายการบินต่างชาติอื่นๆ ให้คุณพกพากระเป๋าติดตัวไปได้ เท่าไรกันบ้าง

รายการสิ่งของต้องห้ามหรือไม่อนุญาติให้นำขึ้นเครื่องมีอะไรบ้าง

โดยส่วนใหญ่สัมภาระที่สามารถพกติดตัวเวลาที่คุณขึ้นเครื่องนั้น ยังมีข้อห้ามต่างๆ ดังนี้

1.ของเหลวในกระเป๋าจะต้องไม่เกิน 100 ml. รวมแล้วไม่เกิน 1,000 ml. และจะต้องถูกบรรจุอยู่ในกระเป๋า และหีบห่อเป็นอย่างดี

2.ต้องไม่เป็นของมีคม และอาวุธต่างๆ  เช่นมีด กรรไกร ปืน

3.สัตว์มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต

4.อาหารที่มีกลิ่นแรง (ทุเรียน ขนุน น้ำปลา เป็นต้น)

5.อาหารทะเลสดหรือแช่แข็งหรือเนื้อสัตว์อย่างอื่นๆ จะต้องแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ว่าถูกบรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์อย่างดี และขึ้นอยู่กับการพิจารณาของเจ้าหน้าที่

นำพาวเวอร์แบงค์ (power bank) ขึ้นเครื่องได้หรือไม่

•ห้ามนำ Power Bank ใส่กระเป๋าเดินทางโหลดใต้เครื่องให้ใส่กระเป๋าถือขึ้นเครื่องได้

•Power Bank ที่ใส่กระเป๋าต้องมีขนาดความจุไฟฟ้าไม่เกิน 32,000 mAh

•Power Bank ความจุไฟฟ้า 20,000 mAh (หรือน้อยกว่า 10,000 Wh) นำขึ้นเครื่องได้ไม่ระบุจำนวน

•Power Bank ความจุไฟฟ้า 20,000 – 32,000 mAh (หรือมากกว่า 160 Wh) นำขึ้นเครื่องได้ไม่เกิน 2 ก้อน

•Power Bank ความจุไฟฟ้ามากกว่า 32,000 mAh (หรือมากกว่า 160 Wh) ไม่ได้รับอนุญาตให้นำขึ้นเครื่อง

หากรู้แบบนี้แล้ว เราสามารถวางแผนได้เลย ตั้งแต่ซื้อตั๋วเครื่องบิน ไม่ว่าจะเดินทางในประเทศ หรือตั๋วเดินทางไปต่างประเทศ ว่าจะแพลนซื้อกระเป๋าแบบโหลดใต้ท้องเครื่องบิน หรือว่าจะจัดกระเป๋าแบบพกพาสัมภาระขึ้นเครื่อง ถ้าเราได้วางแผนการจองตั๋วเครื่องบินล่วงหน้า เราก็จะได้ตั๋วเราคาถูก และมีเวลาหาข้อมูลท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นด้วยนะ

ขึ้นเครื่องประตูไหนต้องรู้

โดยปกติแล้วพนักงานเช็คอินจะออกตั๋วโดยสารและแจ้งให้ทราบถึงประตูทางออกขึ้นเครื่องที่คุณต้องไปขึ้นเครื่องก่อนสิ้นสุดขั้นตอนการเช็คอินทุกครั้ง แต่ในบางกรณีที่คุณอาจใช้เว็บเช็คอินล่วงหน้าหลายวัน ทางสายการบินอาจจะยังไม่สามารถระบุประตูทางออกขึ้นเครื่องให้ได้ ดังนั้นเมื่อเช็คอินเรียบร้อยอย่าลืมสอบถามอีกครั้ง หรือสามารถดูได้จากหน้าจอแสดงรายการเที่ยวบิน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นช่องทางใดประตูทางออกขึ้นเครื่องก็จะบุอย่างชัดเจน เช่นถ้าระบุว่า D6 ก็หมายความว่าคุณต้องไปอาคารเทียบเครื่องบิน D ประตูที่ 6 แล้วก็เดินชิลขึ้นเครื่องได้แบบไม่มีหลงแน่นอน

เพียงเท่านี้คุณก็ขับรถไปจอดพร้อมเช็คอินเดินทางที่สนามบินสุวรรณภูมิได้อย่างง่ายดายและไม่มีหลงอีกต่อไป! แต่ถ้ายังไม่แน่ใจ ทางสนามบินก็มีเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ที่ช่วยแนะนำวิธีการใช้บริการให้กับคุณได้ แต่สุดท้ายและท้ายที่สุด คุณต้องไปลืมที่จะไปถึงสนามบินให้ตรงเวลา ยิ่งถ้าเป็นมือใหม่ไม่ค่อยได้ใช้สนามบินนี้ล่ะก็ เผื่อเวลาได้อีกยิ่งดีเลยล่ะ

SOURCE

KΔNT
KΔNT

อดีตผู้ประกาศข่าวสายเศรษฐกิจ เจ้าของเพจ KANT.CO.TH ชื่นชอบในไลฟ์สไตล์ การท่องเที่ยวพักผ่อน ในโรงแรมหรู สนใจเรื่องราวงานดีไซน์ อสังหา การตลาด การลงทุน