5 เหตุผลดีต่อใจ ทำไมต้องไปเที่ยว “ภูฏาน”

 

ภูฏาน อาณาจักรเล็กๆในฉายา “มังกรแห่งสันติ” ที่มีกำเนิดย้อนหลังไปตั้งแต่เมื่อราวประมาณ 1,300 ปีก่อน แทรกตัวอยู่อย่างสงบเสงี่ยมระหว่างเขตแดนของจีนและอินเดียดินแดนที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นอู่อารยธรรมของโลก

ด้วยภูมิประเทศที่เป็นเอกลักษณ์งดงามเฉพาะตัวและความร่ำรวยในวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมที่สะท้อนถึงความเชื่อตามหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งชาวภูฏานหรือชาวดรุ๊กปายึดถือเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันที่เรียบง่ายของพวกเขาตลอดมา

ความร่ำรวยเงินทองหรือสิ่งอำนวยความสะดวกของชาวตะวันตกหาใช่ความสุขของชาวภูฏานไม่ ที่นี่สามารถเก็บรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่หลากหลายตลอดทั้งปีไว้ได้อย่างดีเยี่ยม

ที่สังเกตเห็นได้ง่ายๆ ก็ได้แก่การแต่งกายในแบบดั้งเดิมที่พบเห็นได้ทั่วไปตามท้องถนน ภาษาพูด รวมถึงสถาปัตยกรรมของอาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่เป็นศิลปะซึ่งผสมผสานกับพระพุทธศาสนา จนอาจเรียกได้ว่าผืนแผ่นดินนี้ล้วนมีความข้องเกี่ยวกับศาสนาในทุกๆ ด้านของชีวิต เพราะความสุขมวลรวมของชาติอยู่กับการดำเนินชีวิตแบบฉบับของชาวภูฏาน…ที่คุณก็สามารถได้เรียนรู้และสัมผัสได้

IMG_43371.ไปไหว้พระ ทำบุญ ไปเรียนรู้เรื่องวัชรยาน

ภูฏานเป็นดินแดนแห่งพุทธศาสนาและเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่ยอมรับนับถือพุทธศาสนามหายานแบบตันตระ เป็นศาสนาประจำชาติอย่างเป็นทางการ

นิกายตันตรยานหรือวัชรยานเป็นลัทธิลามะแบบทิเบต เป็นศาสนาพุทธที่ชาวภูฏานนับถือซึ่งเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิด ตันตรยานถือกำเนิดขึ้นในช่วงสุดท้ายของพัฒนาการอันยาวนานของพุทธศาสนา ศาสนาประจำชาติภูฏานเป็นศาสนาพุทธนิกายมหายาน นับถือพระพุทธเจ้าในภาคของพระศากยมุนีและพระโพธิสัตว์ ศาสนาพุทธของชาวภูฏาน เรียกว่าดรุ๊กปา หรือเกยุปา เป็นศาสนาที่มีลามะเช่นเดียวกับทิเบต ชาวภูฏานส่วนมากนับถือศาสนาพุทธที่เหลือนับถือศาสนาฮินดู

ชาวภูฏานมีความยึดมั่นในศาสนาอย่างแน่นแฟ้นกับทั้งให้ความเคารพนับถือพระ ที่มีบทบาทและอิทธิพลมากในชีวิตความเป็นอยู่ของชาวภูฏาน จะต้องบวชลูกชายที่อายุครบ 10 ขวบทุกคน เพื่อจะได้เรียนรู้คำสอนในพระพุทธศาสนา บางคนที่มีศรัทธาแก่กล้าก็ตัดสินใจบวชเป็นพระไปตลอดชีวิต นอกจากนั้น พระของชาวภูฏานยังมีอิทธิพลและเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นนโยบายการบริหารประเทศของภูฏานจึงเน้นไปที่ศาสนาและศีลธรรมของประชาชนเป็นหลัก

และในการเดินทางท่องเที่ยวในภูฏาน นักท่องเที่ยวก็ถือว่าได้ทำบุญไปด้วยในตัวครับ เพราะบริษัทท่องเที่ยวจะต้องจ่ายประมาณ 65 USD ต่อวันให้กับทางรัฐบาลภูฏาน เพื่อใช้ในการศึกษาและสาธารณสุข เนื่องจากชาวภูฏานทุกคนมีสิทธิ์เรียนและรักษาพยาบาลฟรี นอกจากนี้ยังเป็นกฏว่าจะต้องมีมัคคุเทศก์ที่เป็นชาวภูฏานนำทางเสมอ ไม่ว่านักท่องเที่ยวจะเดินทางมากี่คนก็ตาม

IMG_43382. ไปชมศิลปะวัฒนธรรม ไปชมระบำหน้ากาก

เมืองปูนาคามีสถานะเป็นอดีตเมืองหลวงเก่าของภูฏานที่มีอายุกว่า 300 ปี และมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของประเทศแห่งนี้ ในการเดินทางภายในประเทศภูฏานนั้น สองข้างทางตลอดเส้นทางเต็มไปด้วยป่าทึบสลับกับต้นสนไซปรัสซึ่งเป็นต้นไม้ประจำชาติ

นอกจากนี้ในระหว่างทางยังมีจุดชมวิวที่ชื่อโชดูลา และนาข้าวขั้นบันไดที่สวยงามให้ชื่นชมอีกด้วย ในแต่ละเมืองที่ไปท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นพาโร ทิมพูและภูนาคา ต่างยังเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยสถานที่ที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา รวมถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของภูฏานอีกมากมาย ที่นักท่องเที่ยวต้องไปเยือนสักครั้ง

นอกจากนี้ ยังมีการแสดงศิลปะวัฒนธรรมที่น่าสนใจและพลาดไม่ได้ นั่นคือการแสดงระบำหน้ากาก ซึ่งจะมีเนื้อหาแตกต่างกันไปทั้งเรื่องการสั่งสอนศีลธรรม การสร้างความบริสุทธิ์และปกป้องคุ้มครองสถานที่ไม่ให้วิญญาณร้ายมาคุกคาม และการแสดงชุดระบำประกาศชัยชนะของพุทธศาสนาและบารมีของคุรุรินโปเซ ซึ่งเป็นการระบำที่ใช้กลอง ระบำวีรบุรุษ ระบำเทพเจ้า ระบำภาคสำแดงทั้งแปดของคุรุรินโปเซ ส่วนใหญ่จะใช้พระลามะเป็นผู้ร่ายรำ เพราะชาวภูฏานเชื่อว่า การได้เห็นระบำหน้ากากศักดิ์สิทธิ์โดยพระลามะ หรือการได้เห็นภาพวาดศักดิ์สิทธิ์นั้น เป็นการได้บุญใหญ่ที่จะสามารถช่วยชำระบาปได้ เช่นเดียวกับพระลามะผู้ร่ายรำระบำหน้ากาก ถือเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกสมาธิและการฝึกนิมิตเพื่อที่จะสามารถข้ามความดีกับความชั่ว ความสวยงามความน่าเกลียด ความรักความชัง ไปยังสภาวะจิตบริสุทธิ์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นธรรมชาติแท้จริงของทุกคน

IMG_43393. ไปชิมไปช้อปอาหารของฝากจากท้องถิ่น

เนื่องจากภูฏานมีชายแดนติดกับประเทศอินเดีย และมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ยาวนาน และแน่นแฟ้น จึงทำให้มีการทำธุรกิจนำเข้าอาหารจากอินเดียเป็นจำนวนมากทำให้เกิดการผสมผสานของวัฒนธรรม ดังนั้นอาหารภูฏานจึงมีรสค่อนข้างจัด ตามสไตล์อินเดียแต่ไม่เหมือนเสียทีเดียว

อาหารของภูฏานในทุกเมนูจะค่อนข้างเรียบง่าย และมีส่วนประกอบของข้าว บะหมี่ ข้าวโพด ผัก มันหมู และพริกเป็นหลัก ซึ่งชาวภูฏานถือได้ว่าเป็นผู้ที่ชื่นชอบอาหารรสจัดไม่แตกต่างจากคนไทย หรืออาจจะชื่นชอบรสเผ็ดมากกว่าเราเสียด้วยซ้ำ เพราะพวกเขาไม่ได้ถือว่าพริกเป็นหนึ่งในเครื่องปรุงรสดังเช่นคนไทย แต่พวกเขาถือว่าพริกคือผักอีกหนึ่งชนิดที่จะขาดไม่ได้ในอาหารทุกมื้อ เห็นได้จากการแกงพริกใส่ชีส ชื่อ อีมาตาชิ (Ema Datshi) ที่ประกอบด้วยพริกสดกับซอสเนยต้มกับหัวไช้เท้า มันหมู และหนังหมู ซึ่งเป็นอาหารประจำชาติที่ชาวภูฏานภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

ส่วนสินค้าของที่ระลึกภูฏานและของฝากจากภูฏาน ส่วนใหญ่จะเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านฝีมือประณีต เช่น ผ้าทอ (มีทั้งผ้าฝ้ายและผ้าขนสัตว์) เครื่องจักสาน และเครื่องประดับที่ทำด้วยเงิน กล่องไม้ หรือภาชนะสำหรับใส่ของ เป็นงานไม้ที่ประดับด้วยเงิน ตีเป็นแผ่นและตกแต่งด้วยการฝังเม็ดเงินลงไปในเนื้อไม้เป็นลวดลายต่างๆ เครื่องจักสานของภูฏานทำด้วยไม้ไผ่ เหมือนเครื่องจักสานในเมืองไทย ทั้งรูปร่าง ลวดลาย การใช้สี และประโยชน์ใช้สอย นอกจากนี้ยังมีเครื่องประดับอัญมณีและเครื่องเงิน และหินซึ่งเป็นที่นิยม และของฝากที่พลาดไม่ได้คือตังถั่งเช่าและน้ำผึ้งป่าแท้จากภูฏาน

IMG_43404. ไปฝึกกำลังขา เส้นทางศึกษาธรรมชาติ

ภูฏานเป็นประเทศแรกของโลกที่มีกฎหมายออกมาอย่างชัดเจนซึ่งบังคับให้คนภูฏานทุกคนต้องรักษาธรรมชาติและไม่ตัดไม้ทำลายป่า โดยกำหนดให้ต้องมีป่าปกคลุมไม่ต่ำกว่า 60% ของพื้นที่ทั้งหมดในประเทศ จึงเป็นสาเหตุให้นักท่องเที่ยวที่ไปภูฏานทุกท่านต้องมีไกด์ชาวภูฏานประกบทุกกรุ๊ปเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาทรัพยากรทางธรรมชาตินั่นเองครับ

เมื่อมาเยือนภูฏาน สถานที่ซึ่งนักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดก็คือวัดถ้ำเสือหรือวัดตั๊กซัง Taktsang (หรือ Tiger’s Nest) เมืองพาโร อันเป็นวัดสำคัญที่สุดอีกแห่งหนึ่งของภูฏานที่ตั้งอยู่ริมหน้าผาที่มีความสูงกว่า 900 เมตร ดังนั้นผู้ที่คิดขึ้นไปเยี่ยมเยือนสถานที่แห่งนี้ อาจต้องใช้กำลังขามากสักหน่อย แต่หากใครไม่ถนัดในการเดินขึ้นเขาแล้วล่ะก็ ที่นี่ก็มีบริการม้าขี่ขึ้นเขาใน (ค่าใช้จ่ายประมาณ 20 ดอลล่าร์) วัดถ้ำเสือยังได้ชื่อว่าเป็นวัดอันศักดิ์สิทธิ์ที่นักแสวงบุญจากทั่วโลกให้ความเลื่อมใสศรัทธามากที่สุดอีกด้ว

ดังนั้น ก่อนที่จะไปภูฏานแนะนำให้ไปฝึกเดินป่า หรือฟิตร่างกายซะก่อน เพราะการเที่ยววัด ซึ่งเป็นไฮไลท์ของทริปภูฏานอาจจะไม่ง่ายเท่าไหร่ เพราะคุณจะต้องเดิน ขึ้น-ลง บนทางที่ชัน ซึ่งถ้าฝนตกทางก็อาจจะเป็นโคลน ทำให้ลื่นได้ง่าย จึงควรเตรียมรองเท้าเดินป่าอย่างดีที่ยึดเกาะพื้นได้สูง และอย่าลืมเตรียมไม้สำหรับพยุงตัวเวลาเดินขึ้น-ลงเขาด้วย แต่อย่างไรก็ตามการเดินทางไปวัดตั๊กซังก็ถือว่าเป็นการเดินทางที่คุ้มค่า ที่ทุกคนควรจะไปเยือนสักครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะวิวบนนั้นสวยงามมากจริงๆ และยังเป็นการพิสูจน์ศรัทธาต่อพุทธศาสนาด้วย

IMG_43415. คนภูฏาน คนไทย รักเจ้าชายจิกมี

พระนามของ “เจ้าชายจิกมี” ติดปากชาวไทยในคราวที่พระองค์เสด็จมาร่วมพระราชพิธีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2549 ในฐานะที่เป็นเจ้าชายโสดผู้ทรงพระสิริโฉมและมีพระจริยวัตรงดงาม ในขณะที่พระองค์ยังทรงเป็นมกุฎราชกุมาร และทรงเป็นพระราชอาคันตุกะที่มีพระชนมายุน้อยที่สุดในหมู่ราชวงศ์ที่มาร่วมงาน จนเป็นที่ต้องตาต้องใจของชาวไทย

คนไทยเรียกพระนามท่านว่า “เจ้าชายจิกมี” ตามสื่อมวลชน แท้ที่จริง ชาวภูฏานเรียกท่านว่า “เจ้าชายเคซาร์” ซึ่ง จิกมี ชื่อหน้านั้นแปลว่า ผู้กล้าหาญ ส่วนชื่อหลังเป็นราชวงศ์ พระนาม “เคซาร์” ใช้เรียกพระนามของพระองค์ (“เคซาร์” เป็นชื่อของจอมทัพนักรบของชาวมองโกเลีย) ปัจจุบัน สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรภูฏาน ลำดับที่ 5 แห่งราชวงศ์วังชุก

“ความสุขมวลรวมของประชาชาติ สำคัญกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ” พระราชปณิธานของพระราชบิดายังคงดังก้องกังานไปในแผ่นดินภูฏาน นั่นหมายถึงว่า ในท่ามกลางกระแสคลื่นทุนนิยม บริโภคนิยม ประเทศภูฏานเปิดบ้านเปิดเมืองสู่โลกภายนอกมากขึ้น ชาวภูฏานในระดับผู้มีฐานะดีต่างออกไปเล่าเรียนและแสวงหาความรู้จากประเทศทุนนิยมกันมากมาย จึงเป็นสิ่งที่น่าคิดว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ภูฏานจะดำรงความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้มากน้อยเพียงใด

 

KΔNT
KΔNT

อดีตผู้ประกาศข่าวสายเศรษฐกิจ เจ้าของเพจ KANT.CO.TH ชื่นชอบในไลฟ์สไตล์ การท่องเที่ยวพักผ่อน ในโรงแรมหรู สนใจเรื่องราวงานดีไซน์ อสังหา การตลาด การลงทุน