#ถอดรหัสดีไซน์ DUSIT THANI BANGKOK
เขียนละเอียดสุดๆ มีใครให้มากกว่านี้อีกไหม
/
โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ เปิดมาแล้วเดือนกว่าๆ ตอนนี้เริ่มเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้นแล้วครับ ความเป๊ะที่เป็นเสน่ห์ของดุสิตธานีในฐานะผู้นำด้านการโรงแรมสัญชาติไทย กานต์เข้าพัก 3 วัน 2 คืน ซึ่งจะได้รีวิวสรุปเป็นข้อให้ได้อ่านกัน พยายามจะเล่าแง่มุมศิลปะที่หลากหลายจากประสบการณ์ที่ได้เข้าพักเอง เขียนยาวหน่อยแต่คุ้มเวลาถ้าได้อ่าน
1. เริ่มจากภาพรวมก่อน เป็นโรงแรมขนาดใหญ่สูง 39 ชั้น ไฮไลท์คือทั้ง 257 ห้อง ตั้งแต่ดีลักซ์ จนถึงห้องสวีท จะมองเห็นวิวสวนลุมพินีทุกห้อง ซึ่งกานต์การันตีให้เลยว่าจริง เนื่องจากห้องจะหันหน้าฝั่งเดียวแบบ Single Corridor ส่วนอีกฝั่งริมทางเดินจะเป็นวิวของ Dusit Central Park ที่กำลังจะเปิดตัว เรียกได้ว่าสะท้อนความเป็นธรรมชาติใจกลางกรุงเทพได้ดีมาก เราได้ขึ้นไปชั้นบนสุด ดูท่าจะน่าตื่นเต้นมากขึ้นหากแขกได้ขึ้นไปเช็คอินที่ Sky Lobby Check in ซึ่งกำลังจะเปิดให้แขกได้ใช้เร็วๆ นี้
2. งานตกแต่งภายในออกแบบใหม่โดย Andre Fu Studio จากฮ่องกงซึ่งเป็นคนที่สะท้อนภาพความเรียบหรูได้ดีมาก งานของเค้าคือจะดึงความเป็นวัฒนธรรมของแต่ละที่ออกมาให้เป็นภาษาสากล Andre Fu จะมองความเป็นไทยร่วมสมัยจากเลนส์ของต่างชาติ ทำให้เราได้เห็นงานออกแบบที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่มีดีเทลในการดีไซน์เยอะไปหมด เห็นได้ตั้งแต่ Signature Lobby’s Ceiling ที่โดดเด่นด้วยการเลือกเฉดสีทอง ที่ดูไม่อร่ามจนเกินไป กลายเป็นงานคลาสสิคที่ไร้กาลเวลา การออกแบบชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ โคมไฟ เก้าอี้ และอีกมากมายที่ทำให้ดุสิตธานี กรุงเทพ สวยงามแบบนี้ไปอีกหลายสิบปีเหมือนที่เคยเป็นมา
3. โรงแรมเก็บอัตลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นดุสิตเอาไว้ได้หมด อาทิ ยอดเสาสีทอง (Golden Spire) ในอดีตที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากยอดของพระปรางค์ วัดอรุณฯ ตอนนี้มีการสร้างขึ้นมาใหม่ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เห็นได้แต่ไกล สร้างครอปของเดิมเอาไว้ให้มีลักษณะโปร่งมองเห็นด้านใน ใช้หลักคิดคล้ายๆ การสร้างเจดีย์ครอบของเดิมแบบคนไทยโบราณ พร้อมกับดึงอัตลักษณ์ของงานอินทีเรียเดิมเข้ามาใช้เยอะมาก
4. เสาเบญจรงค์ 2 ต้นประดับไว้ที่ทางเข้าลิฟต์ ทำหน้าที่ต้อนรับแขกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเพื่อทำหน้าที่นำพาแขกขึ้นไปสู่สวรรค์ชั้นดุสิต เดิมทีเสานี้อยู่ที่ห้องอาหารเบญจรงค์ ได้รับการบูรณะโดยคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เข้ามาช่วยให้คำแนะนำ โดยได้อาจารย์ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ ลูกสาวของท่านกูฏ-อาจารย์ไพบูลย์ ศิลปินใหญ่ผู้ที่บุกเบิกจิตรกรรมฝาผนังไทยยุคใหม่ มาทำหน้าที่สำคัญในครั้งนี้เพื่อฟื้นคืนชีวิตให้กับเสาหลักของดุสิตธานีตั้งแต่รุ่นพ่อที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ กลายเป็น Installation Art ที่มีจิตวิญญาณดุสิตธานี
5. ด้านหน้าประตูทางเข้าประดับด้วยภาพเขียนแนว Contemporary Neural Art โดยอาจารย์สกล มาลี ศิลปินลูกอีสานที่เป็นชิ้นงานใหญ่สุดในชีวิต วาดลงบนกระดานไม้ขึงผ้าฝ้ายจำนวน 3 ชิ้นทาด้วยกาวเพื่อให้ใกล้เคียงกับผืนผ้าใบที่สุด แล้วนำมาประกอบกัน ใช้เทคนิคการวาดแต่ละเหตุการณ์วาดลงลายนำมาประติดประต่อกัน จนกลายเป็นเรื่องราวผืนใหญ่ ต้องเข้าไปดูใกล้ๆ จะตื่นเต้นไปกับเรื่องราวที่เล่าเรื่องความเป็นดุสิตธานีจากวันแรกจนถึงปัจจุบัน
6. ดุสิตธานีทำงานร่วมกับศิลปินไทยรุ่นใหม่ๆ เยอะมาก อย่าง กราฟฟิคและฉากกั้นตกแต่งล็อบบี้ ออกแบบโดยคุณโอ-ธีรวัฒน์ และคุณธาริดา จาก projecttSTUDIO สตูดิโอระดับเทพด้านกราฟฟิคของไทย ทำงานคู่กับคุณโด่ง-พงษธัช จาก Dong Sculpture มีการนำไอเดียของเส้นสินเทา มาประกอบการออกแบบให้เป็นการแบ่งสวรรค์แต่ละชั้น รวมถึงแบ่งโลกกับสวรรค์ออกจากกัน นอกจากจะให้ความเป็นส่วนตัวกับแขกแล้ว งานดีไซน์ใช้เลเซอร์คัทเหล็กให้ได้มีรูปทรงให้ทันสมัย ให้สื่อถึงความเป็นสวรรค์ชั้น 4 ของดุสิต ต้องเข้าไปดูใกล้ๆ จะเห็นความเป็น Art Piece ที่สวยมาก ส่วนงานขดลวดทองแดงบริเวณหน้าลิฟต์ ชิ้นนี้กานต์ประทับใจมาก โดยคุณเจมส์-ธีรพล สีสังข์ ซึ่งค่อยๆ ขึ้นรูปจนกลายเป็นงานศิลปะของสวรรค์ให้เหล่าเทวดานางฟ้า (ซึ่งก็หมายถึงแขกที่เข้าพัก) ได้มาพักผ่อนกันที่นี่ หรือหากได้ไปที่ชั้น 2 จะมองเห็นงานอาร์ตจากผ้าทอจากกาชามาศ ของ คุณแอน-กาชามาศ จากเชียงใหม่ที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณความเป็นไทยในงานนั้นๆ
7. ลีลาวดี ต้นไม้แห่งความทรงจำ ที่ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุยได้ปลูกไว้ตั้งแต่ก่อตั้งโรงแรม นำมาปลูกไว้อยู่ด้วยกันกับนํ้าตก 9 ชั้น (𝗦𝗶𝗴𝗻𝗮𝘁𝘂𝗿𝗲 𝗖𝗮𝘀𝗰𝗮𝗱𝗶𝗻𝗴 𝗪𝗮𝘁𝗲𝗿𝗳𝗮𝗹𝗹) ในโรงแรม ซึ่งยุคนั้นเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมากๆ และแน่นอนว่าต้องคงเอาไว้ นํ้าตกแบ่งระดับชั้นเป็น 3 ชั้น (ด้านบน) หมายถึง ไตรภูมิทั้ง 3 โลก และ 6 ชั้น (ด้านล่าง) หมายถึง สวรรค์ 6 ชั้น เมื่อนำทั้งสองเลขมารวมกันจะได้เป็นเลข 9 ตัวเลขมงคลที่ท่านผู้หญิงชนัตถ์ โปรดมาก เราจะสามารถมองเห็นได้ตั้งแต่ล้อบบี้ ที่จะเชื่อมต่อไปยังอาคารด้านนอกและรถไฟฟ้า แขกที่เข้ามาจากทั้ง 2 ฝั่งจะได้สัมผัสความเป็นอัตลักษณ์ของดุสิตธานีทันที และเติมเต็มความสดชื่นเมื่อได้ยินเสียงน้ำตกและมองเห็นต้นไม้สีเขียวในอาคาร
8. ห้องพักดีไซน์สวยมาก ไม่เยอะสิ่งจนเกินไปแต่ภายในเต็มไปด้วยดีเทลของเรื่องราวการออกแบบ ห้องใหญ่มาก Deluxe เริ่มต้นก็ 50 ตร.ม.แล้ว ซึ่งไฮไลท์นอกจากวิวสามารถนั่งพักผ่อนที่ Seating Box (ที่นั่งและหน้าต่างยื่นออกไปจากอาคาร) แล้ว ห้องนี้ยังเป็นห้องที่เชื่อมต่อกับห้องน้ำโดยตรงได้ฟีลเหมือนอยู่บ้าน ใช้วัสดุอย่างไม้ ผ้า มาตกแต่ง หัวนอนประดับด้วยลวดลายจากภาพจิตรกรรมของโรงแรมดุสิตเดิม สถาปนิกนำมาลดทอนแล้วเพิ่มองค์ประกอบใหม่คือเส้นสินเทาเข้าไปในภาพพร้อมกับปักดิ้นสีทองเพื่อให้ดูมีมิติมากขึ้น ใช้เทคนิคของบ้านไทยที่มีลายปะกน ลายลูกฟักมาช่วยทำให้ได้ฟีลลิ่งแบบไทยๆ เลือกใช้สีเขียวจากไทยโทนที่ดูสบายตา น่าพักผ่อน
9. ตอนที่เราไปพัก บาร์ชั้น 39 ยังไม่เปิดให้บริการ แต่ได้มีโอกาสเห็นตอนที่ช่างกำลังตกแต่งดูสวยดี มีความเป็นไทยโมเดิร์น ไปตอนบ่ายๆ คือลมพัดเย็นสบาย วิวสวยลุมสวยเลยครับ ตอนค่ำน่าจะ Vibes ดีกว่านี้ จากนั้น เราไปนั่งที่ Grand Lobby Bar ตอนบ่ายเสิร์ฟชุดน้ำชายามบ่าย ซิกเนเจอร์แน่นอนว่าเบสมาจากของกินแบบไทยๆ ทั้งคาวและหวาน เราเลือกชาดอกบัวจาก Saro มาจิบ ตอนบ่ายแก่ๆ มีวงดนตรี 3 ชิ้นมาบรรเลงเพลงให้ฟัง ช่วงค่ำหลังดินเนอร์แล้วมานั่งที่บาร์อีกรอบ Vibes ดีอยู่ฟีลวินเทจนิดๆ โมเดิร์นหน่อยๆ เก๋ดีครับ
10. ห้องอาหาร ตอนที่เราไปพักได้ทาน 2 ห้องคือ ดุสิตกรูเมต์ ที่เป็น All Day เดินเข้าจากทาง MRT มาทานได้เลยครับ กะเพราะเนื้ออร่อย คุ๊กกี้ก็น่าซื้อกลับ ส่วนมื้อเย็นเราทานกันที่ห้องอาหาร Pavilion ซึ่งหลักๆ จะเสิร์ฟอาหารไทยและจีนกวางตุ้งสูตรต้นตำรับ ติ่มซำดี เป๋าฮื้ออร่อย กุ้งแม่น้ำไซซ์ใหญ่ แต่ที่ไม่อยากให้พลาดเลยคือของหวานมาถึงให้รีบสั่งขนมอินทนิลใบเตยก่อนเลย เพราะว่าแต่ละเย็นจะทำได้ไม่เยอะเสิร์ฟมาในลูกมะพร้าวอ่อนทานได้ทั้งหมด มื้อเย็นเราทานที่ห้องนี้ 2 ครั้งเลยครับ ส่วนมื้อเช้าก็ทานที่นี่เช่นกัน มีให้เลือกทั้งแบบสั่งและไลน์บัฟเฟต์ อัดแน่นดี แต่ที่ชอบสุดคือขนมอบ สมกับความเป็นดุสิต ครัวซองก์คือให้เต็ม 10 เลยครับ อาหารเช้าคุ้มค่าห้องมากๆ
เช้านี้เห็นมีข่าวว่าห้องอาหารอิตาเลี่ยนเปิดแล้ว ไว้ถ้าได้ไปชิมแล้วจะมาเล่าให้ฟังนะครับ