“คนไทยโชคดีที่สุดในโลก เพราะเรามีพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนัก และทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเพื่อประชาชนของพระองค์ ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา”
เมื่อวันหยุดที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปเรียนรู้ศาสตร์พระราชา ตามรอยพระบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ต่างทุ่มเททรงงานหนัก เพื่อให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ทริป กานต์เดินทาง : ๙ ก้าวตามรอยพระบาท 3 จังหวัด คือชลบุรี ระยอง และจันทบุรี จึงเกิดขึ้น ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าทุกพระองค์ และขอน้อมนำแนวทางที่ทรงพระราชทานมาปฏิบัติใช้ในชีวิตครับ
เริ่มต้นจากการไหว้พระเอาฤกษ์เอาชัยและความเป็นสิริมงคล ณ วัดญาณสังวรารามวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอกชนิดวรมหาวิหาร
วัดญาณสังวรารามอาจถือเป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องจากคณะผู้สร้างวัดได้พร้อมใจกันสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ
วัดนี้อยู่ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก และได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระกรุณานานัปการจากองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ได้ทรงอุปถัมภ์ในการก่อสร้างตลอดมา และทรงรับเป็นวัดในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นวัดในพระองค์อีกด้วย
โครงการป่าสิริเจริญวรรษ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ไหว้พระที่วัดญาณสังวรารามวรวิหาร เสร็จแล้ว เรามุ่งหน้ามาทางเขาชีโอน ไม่ไกลนัก ก็ได้พบกับโครงการป่าสิริเจริญวรรษ ด้วยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในปีพ.ศ.2534
จนถึงปัจจุบันนี้พื้นที่กว่า 3,900 ไร่ ของป่าสิริเจริญวรรษกลายเป็นโครงการปลูกป่า โดยเน้นการอนุรักษ์ดินและน้ำอย่างยั่งยืน จากเดิมซึ่งเคยเป็นป่าเสื่อมโทรม เมื่อผ่านความพยายามในการปลูกป่าตามแนวพระราชดำริ ต้นไม้ที่ เพาะกล้าไว้ เริ่มงอกเงยกลายเป็นป่าใหญ่ เหล่าสัตว์ป่า ทั้งหลายก็กลับมีชีวิตชีวา ชาวบ้านในพื้นที่ก็สามารถ ทำมาหากินได้ เก็บของป่าไปจำหน่ายได้ มีทั้ง หน่อไม้ เห็ด และยอดหวาย
กลายเป็นปอดผืนใหญ่ของชาวชลบุรี และทำให้เป็นเมืองสีเขียวชอุ่มที่มีผืนป่าอันอุดม เป็นที่อยู่อาศัยของ สัตว์ป่านานาชนิดให้เราได้ทำความรู้จักกันไม่มีเบื่อครับ
ปัจจุบันพื้นที่สีเขียวแห่งนี้ เปิดประตูต้อนรับ นักท่องเที่ยว ให้เข้าพักผ่อนหย่อนใจ และยังเป็น แหล่งเรียนรู้สำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมทั้งประชาชนที่สนใจในธรรมชาติ ให้มีโอกาสได้มาสัมผัส กับผืนป่ากว้างที่มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ผืนป่าแห่งนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ซึ่งผู้มา เยือนจะได้เรียนรู้วิธีการฟื้นฟูป่า ให้กลับมามีชีวิตชีวาเหมือนเดิมครับ
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย
ที่แห่งนี้ได้รวบรวมและจัดแสดงด้านธรณีวิทยา พฤกษศาสตร์ สัตวศาสตร์ทางทะเลเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยกองทัพเรือ อันเป็นส่วนหนึ่งในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2536 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของพันธุกรรมพืชต่างๆ ในประเทศไทย ตามแนวพระราชดำริที่ว่า “ให้สำรวจตั้งแต่ยอดเขาจนถึงใต้ทะเล” โดยแบ่งเป็นสาขาต่างๆ ทั้งชีวภาพบนบก ชีวภาพทางทะเล สภาพอุตุนิยมวิทยา อุทกศาสตร์ ธรณีวิทยา ซึ่งผลสำรวจได้ “มหัศจรรย์แห่งการค้นพบ” ได้แก่ ซากฟอสซิลต่างๆ
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ มีสถาปัตยกรรมที่วางตัวเรียงรายกันอย่างสวยงามบนเนินเขา ถ้าหากแวะมาเที่ยวที่นี่แล้วยังมีเวลา ยังสามารถนั่งเรือข้ามเกาะไปเที่ยวเกาะแสมสาร ดินแดนแห่งการค้นหาสิ่งมหัศจรรย์แห่งชีวิตครับ
ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ สัตหีบ
ไม่ไกลจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย เราก็ขับรถมาถึง ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และแหล่งความรู้เกี่ยวกับเต่าทะเล ที่อยู่ในความดูแลของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) อำเภอสัตหีบ ชลบุรี ซึ่งทางกองทัพเรือได้ดำเนินการอนุรักษ์เต่าทะเลมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2493 ครับ
มีอาคารรูปทรงเต่าน่ารักอารมณ์ดีไว้รอต้อนรับ เพราะที่นี่เน้นการทำงานเรื่องการอนุบาลเต่านานาพันธุ์ ทั้ง เต่าหญ้า เต่าตนุ เต่าทะเล เต่ากระ ตั้งแต่ออกจากไข่ จนโตพอที่จะปล่อยลงสู่ทะเล กลับคืนสู่ธรรมชาติ เป็นแหล่งวิจัยเต่าทะเลเพื่อเป็นข้อมูลในการอนุรักษ์ มีโรงพยาบาลเต่าทะเลเพื่อรักษาเต่าทะเลที่ได้รับการบาดเจ็บ หรือเป็นโรค และ เป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ให้กับผู้ที่มาเยี่ยมชม มีการตัดนิทรรศการที่นำเสนอข้อมูลมากมาย ทั้งเรื่องของวงจรชีวิต ชนิดและสายพันธุ์ต่างๆ ตลอดจนหน่วยงานหลักคือ กองทัพเรือก็ได้วางเป้าหมายหลักในการเฝ้าอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ในพื้นที่โดยรอบ ไม่ว่าจะเป็น เกาะคราม เกาะอีร้า และเกาะจาน
เราจะได้เห็นถึงการทำงานที่ทุ่มเทของเจ้าหน้าที่ ในการอนุรักษ์เต่าทะเลที่มีอยู่น้อย ไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากเมืองไทย รับรองได้ว่าปณิธานของศูนย์ฯ ที่ต้องการให้ ทุกคนรู้สึกรักและหวงแหนเต่าทะเลของไทย จะต้องสำเร็จตามเป้าหมายอย่างแน่นอนครับ
โครงการศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ
ขับมาไม่ไกลจากอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เราก็มาถึงที่จังหวัดระยองครับ ซึ่งต้องผ่านด่านแรกในฐานะพื้นที่เชื่อมต่อ ระยอง-ชลฯ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออกเลยทีเดียว
แต่เดิมก่อนจะมีโรงงานอุตสาหกรรมมากมายมาตั้งนั้น คนในท้องถิ่นจะประกอบอาชีพชาวประมง ออกเดินเรือหาปลาบนผืนทะเลอันสวยงามและขึ้นชื่อ รวมถึงประกอบอาชีพเกษตรกรรมก็นับเป็นอีกหนึ่งหนทาง ที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในสองจังหวัดนี้ด้วยเช่นกัน การท่องเที่ยวเชิงเกษตร จึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมในพื้นที่นี้ สำหรับผู้ชื่นชอบการท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ ที่จะพาตัวเองไปสัมผัสกับกลิ่นดินกลิ่นใบไม้
แต่เสน่ห์เหล่านี้เริ่มหายไป เมื่อมีความเจริญและอุตสาหกรรมเข้ามาแทนที่ ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2523 สภาพพื้นที่ป่าแห่งนี้ถูกทำลายจึงขาดความอุดมสมบูรณ์ของดินและขาดแหล่งน้ำ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริว่าบริเวณอ่างเก็บน้ำดอกกราย อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 1,300 ไร่ สามารถส่งน้ำมายังพื้นที่ดังกล่าวได้ และทรงแนะนำให้จัดเป็นศูนย์กลางอาชีพการเกษตรและศิลปาชีพพิเศษแก่ราษฎร พระราชทานทรัพย์ที่พระราชทานมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้จัดตั้งโครงการศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ จ.ระยอง-ชลบุรี เพื่อเป็นศูนย์กลางอาชีพการเกษตรและศิลปาชีพพิเศษแก่ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม บริเวณริมอ่างเก็บน้ำดอกกราย เพื่อพัฒนาด้านการเกษตร ด้านปศุสัตว์และการประมงเพื่อการบริโภคปัจจุบันศูนย์ฯ แห่งนี้ใช้เป็นสถานฝึกอบรม ที่เพียบพร้อมไปด้วยอาคารและแปลงเกษตรสาธิต สำหรับศึกษา ดูงานได้เป็นอย่างดีครับ
ทุ่งโปร่งทอง ป่าชายเลน ปากน้ำประแส
จากตัวปลวกแดง เราขับมาตามถนนหมายเลข 3 ผ่านตัวเมืองระยอง ระยะทางประมาณ 80 กม. เมื่อถึงแยกไฟแดงปากน้ำประแ
จากพื้นที่ซึ่งในอดีตเคยเป็
เมื่อก้าวเดินไปตามสะพานไม้
ถนนเฉลิมบูรพาชลทิต
โครงการถนนเลียบชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรือ ถนนเฉลิมบูรพาชลทิต ที่เชื่อมโยงจังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด เป็นถนนสองเลนซึ่งมีระยะทางรวม 111 กิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองจันทบุรี 15 กิโลเมตร มีจุดชมวิวขึ้นชื่อ สำหรับใครที่ชื่นชอบการถ่ายรูปกับวิวทะเลที่ขนาบข้างด้วยทิวทัศน์ของภูเขาสีเขียว กับถนนที่คดเคี้ยวสวยงามนั่นคือจุดชมวิวเนินนางพญา ที่ตั้งอยู่บนถนนเฉลิมบูรพาชลทิต ถนนเลียบชายทะเลที่ยาวที่สุดในเมืองไทย ที่สามารถขับรถชมวิวทะเล หรือปั่นจักรยานทางไกลมาเรื่อยๆ จากปากน้ำประแส จังหวัดระยอง มาจรดเนินนางพญา ตั้งอยู่ระหว่างหาดคุ้งวิมาน และอ่าวคุ้งกระเบน จันทบุรี สามารถชมความงามของถนนโค้งเลียบชายทะเลที่สวยงาม และมีจุดจอดรถเพื่อนั่งมองวิวทะเล ชมพระอาทิตย์ตกสวยมาก ได้รับการคัดเลือกให้เป็น Dream destinations จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ว่าต้องไปเยือนให้ได้สักครั้ง
ที่นี่ยังมีการอำนวยความสะดวกให้กับนักเดินทางด้วยการจัดสร้างศาลาที่พัก มีรั้วกั้นเพื่อความปลอดภัย และยังมีขอบทางสีแดงให้กับบรรดานักปั่น ได้ปั่นจักรยานไปตามเส้นทางถนนบูรพาชลทิตอีกด้วย
ใกล้กันเป็นจุดชมวิวพระสังกัจจจาย์ หันหน้าออกไปทางทะเล เมื่อขึ้นมาบนองค์พระก็จะเห็นบรรยากาศทะเลที่สวยงาม ร่มรื่นครับ ขับต่อมาอีกนิด ก็จะเป็นบริเวณหาดทรายอ่าวคุ้งวิมาน ซึ่งน้ำในทะเลใสมากครับ สามารถแวะทานอาหารได้ที่นี่ครับ
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ถ้าหากพูดถึงพื้นที่ป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์และสวยงามที่สุดของจันทบุรี ป่าชายเลนภายในโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ คือชื่อแรกที่ใครๆ ก็นึกถึง เริ่มก่อตั้งตามพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมจัดทำโครงการพัฒนาด้านอาชีพการประมง และการเกษตรในเขตพื้นที่ดินชายฝั่งทะเลจันทบุรี ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2524 มีพื้นที่ครอบคลุมชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวคุ้งกระเบนกว่า 4,000 ไร่ โดยได้ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ การจัดการทรัพยากรชายฝั่ง การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพของชาวบ้าน โดยได้ส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อให้ประชาชนที่สนใจเข้ามาศึกษาสภาพธรรมชาติ ด้วยพันธุ์ไม้บริเวณป่าชายเลนแห่งนี้มีมากกว่า 30 ชนิด อาทิ แสม ไม้ลำพู ไม้โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ โปรงแดง ป่าสักดอกแดง ป่าสักดอกขาว ลำพูทะเล เเป็นต้น ต้นไม้แต่ละชนิดจะมีป้ายบอกชื่อ ลักษณะ และสรรพคุณของไม้นั้นๆ ไว้ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีสะพานเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน ที่สร้างขึ้นจากไม้ตะเคียนทอง รวมกับ ทางเดินหินเกล็ด เป็นระยะทางเกือบ 2 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินชมประมาณ 45 นาที – 1ชั่วโมง เป็นสะพานไม้ระแนง ทอดยาวเข้าไปในดงป่าชายเลน โดยมีศาลาสื่อความหมาย 10 ศาลา ตลอดจนจุดพักชมเป็น ระยะๆ ตลอดเส้นทางให้เดินชมธรรมชาติได้อย่างใกล้ชิด เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจระบบนิเวศในป่าชายเลนและรู้จักใช้ทรัพยากรเหล่านั้นให้ เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงเราจะได้เห็นสัตว์น้อยแห่งป่าชายเลน อย่างเช่น ปลาตีน ปูแสม วิ่งไปมา รวมถึง บรรยากาศในการเดินชมค่อนข้างร่มรื่นและเย็นสบายด้วยต้นไม้ที่ปกคลุมตลอด 2 ข้างทางครับ
โครงการศูนย์พัฒนาไม้ผล ตามพระราชดำริ จ.จันทบุรี
พักเหนื่อยกันสักนิด ถ้าได้เติมพลังด้วยผลไม้สดจากสวน คงจะสดชื่นดี โดยเฉพาะจันบุรี ขึ้นชื่อเรื่องเมืองผลไม้อยู่แล้วครับ ว่าแล้วก็ขับรถไปที่ โครงการศูนย์พัฒนาไม้ผล ตามพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี ที่นี่เป็นมากกว่าสวนผลไม้ที่เปิดให้เข้าชมและลองชิมทั่วไป เพราะบนพื้นที่กว่า 9 ไร่ ศูนย์พัฒนาไม้ผลแห่งนี้ คือแหล่งเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เกษตรกรสามารถศึกษาและพัฒนาผลผลิตไม้ผลในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ รวมถึงเป็นสถานที่ให้บุคคลทั่วไป แวะมาท่องเที่ยวและเรียนรู้ได้ด้วยเช่นเดียวกัน อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “สวนผลไม้ของพ่อ” ก็ไม่ผิดนัก
ในปี พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการศูนย์พัฒนาไม้ผล ตามพระราชดำริ ขึ้นบนพื้นที่ 109 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่ เป็นสวนไม้ผล พื้นที่ว่างเปล่า และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กไว้ใช้ในฤดูแล้ง ทั้งยังเป็นโรงเรียนบ่มเพาะประสบการณ์ และระบบการพัฒนาการเกษตรที่เกิดความยั่งยืนครอบคลุมทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้ระบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมคือ เกษตรอินทรีย์ ที่ส่งเสริมการผลิตให้สามารถส่งออกจำหน่ายได้ทั้งภายในและภายนอกประเทศครับ
ใครที่ชื่นชอบผลไม้ไทย หากมาที่นี่รับรองว่าไม่ผิดหวัง ได้ทั้งรสชาติที่ถูกปากแถมยังปลอดสารพิษอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ลองกอง มังคุด และราชินีแห่งผลไม้อย่างทุเรียน ที่ออกผลให้ทุกคนได้มาลองลิ้มชิมรสชาติแท้ๆ ของผลไม้เมืองจันท์ครับ
ศูนย์พัฒนาผลไม้ที่พูดได้ว่าเป็น “สวนผลไม้ของพ่อ” ที่สอนให้เกษตรกรใส่ใจดูแลสวนผลไม้สู่การต่อยอดทางด้านเศรษฐกิจทั้งในประเทศและส่งออกสู่ต่างประเทศ เปิดสวนให้นักท่องเที่ยวได้มาลิ้มลอง และอิ่มท้อง พร้อมรับความประทับใจกลับบ้าน เรียนรู้หลักการเศรษฐกิจพอเพียงที่ใช้ได้จริงและพัฒนาชีวิตของเกษตกรให้ยั่งยืนอีกด้วยครับ
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติ และอนุรักษ์ป่าชายเลน
ปิดท้ายทริป 9 (ก้าว) ตามรอยพระบาท ก่อนกลับกรุงเทพ เรามีโอกาสได้เข้าไปเที่ยว ที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและอนุรักษ์ป่าชายเลน ใจกลางเมืองชลบุรี ที่นี่อาจเรียกได้ว่าเป็นป่าชายเลนผืนสุดท้ายในชลบุรี
มาแล้วก็ต้องทำใจให้สบายๆ พักเหนื่อยจากการเดินทาง เพื่อเตรียมรับเอาของฝากเป็นอ็อกซิเจนบริสุทธิ์กระบุงใหญ่จัดเสิร์ฟถึงปลายจมูก สามารถหายใจเข้าได้เต็มปอด โดยปลอดจากมลพิษ ด้วยอาณาบริเวณ 300 ไร่ ที่อัดแน่นไปด้วยต้นโกงกางผืนใหญ่ ที่มีสารพัด พันธ์ุไม้ที่ขึ้นอย่างหนาแน่น ทุกต้นต่างทำหน้าที่ในการผลิต โอโซนใสสะอาด พร้อมกับปกป้องสัตว์น้ำต่างๆ ไว้มากมาย
บริเวณด้านหน้าทางเข้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จังหวัดชลบุรี มีแผนผังแสดงทางเดินเยี่ยมชมป่าชายเลน มีจุดให้ความรู้เกี่ยวกัวกับระบบนิเวศ 10 จุดด้วยกัน แต่ละจุดให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับป่าชายเลน จุดแรกเริ่มจากประวัติความเป็นมาของศูนย์ จุดถัดมาแสดงแผนผังศูนย์ ความหมายของป่าชายเลน พันธุ์ไม้และลักษณะสำคัญของไม้ในป่าชายเลน ชนิดพันธุ์ไม้ในป่าชายเลน ชนิดพันธุ์สัตว์น้ำในป่าชายเลน ประโยชน์ของป่าชายเลน สาเหตุของการลดลงของป่าชายเลนและผลกระทบ ระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารในป่าชายเลน ป่าชายเลนต้องคงอยู่ในประเทศไทยตลอดไปครับ
ป่าชายเลนที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและอนุรักษ์ป่าชายเลน ชลบุรี มีการจัดเรียงตัวเป็นแถบขนานไปกับทะเล โดยมีสะพานไม้ความยาวโดยรอบ 2,300 เมตร ระหว่างทางจะมีศาลาชีวภาพใต้น้ำ สะพานแขวน และมีบอร์ดให้ความรู้เกี่ยวกับป่าชายเลนเป็นระยะๆ นักท่องเที่ยวจะได้รับทั้งความรู้และความเพลิดเพลิน ตลอดสองข้างทางจะสามารถพบเห็นต้นไม้หลากพันธ์ุ ทั้ง โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ตะบูนดำ ตะบูนขาว แสมดำ แสมขาว โปรงแดง โปรงขาว ลำพูน และสัตว์น้ำ อย่าง กุ้งหลากพันธุ์ ปูก้ามดาบ ปูแสม หอยนางรม หอยแครง ปลานวลจันทร์ ปลากะพงขาว ปลาตีน และปลาหน้าตาแปลกหลายชนิดที่อยู่ตรงชายเลน
ส่วนนักส่องนกทุกท่าน นกหายากที่นี่ก็มีให้เห็น รวมทั้ง นกสีสวยหลายชนิด เพราะที่นี่นับเป็นป่าชายเลนที่ได้การอนุรักษ์มาเป็นระยะเวลายาวนาน จนมีความอุดมสมบูรณ์ไม่แพ้ป่าชายเลนในจังหวัดอื่นๆ เลยครับ